นักวิจัยภาวะโลกร้อนและนักวิจัยทางการแพทย์เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงสุดในศตวรรษที่ 21 และจัดว่ารุนแรงกว่าโรคติดต่อ ภาวะขาดแคลนน้ำ หรือแม้แต่ความยากไร้
รายงานจาก University College London ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ฉบับวันนี้ระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นอันดับแรก ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมประชากรที่ต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหารอยู่แล้ว ในขณะที่โลกตะวันตกก็หนีไม่พ้นเช่นกัน และปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
"ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อคนหลายพันล้านทั่วโลก มันไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเฉพาะหมีขั้วโลกและต้นไม้ใบหญ้า" แอนโทนี คอสเทลโล กุมารแพทย์จาก University College London กล่าว "เรากำลังสร้างโลกที่น่ากลัวและย่ำแย่ให้กับลูกหลานของเรา"
คณะนักวิจัยเปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดน้ำท่วมตามเมืองต่างๆ ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่นต้องย้ายถิ่น ส่งผลให้เกิดการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอาหารและน้ำที่หายากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้เชื้อโรคอย่างมาลาเรียกระจายตัวได้ง่ายกว่าเดิม สุดท้ายก็จะมีผู้เสียชีวิตจากดหตุน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และพายุมากขึ้น
เมื่อปี 2550 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (IPCC) คาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 1.1-6.4 องศาเซลเซียส (2-12 องศาฟาห์เรนไฮท์) ภายในศตวรรษนี้ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 18 เซนติเมตร แตะระดับ 59 เซนติเมตร สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน