กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กับความคาดหวังของประชาชน พบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ 3 ภารกิจหลักของคณะกรรมการทั้งในด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมือง และการสร้างความสมานฉันท์ยังอยู่ในระดับที่ก้ำกึ่งกัน
โดยภารกิจในการสร้างความสมานฉันท์ลดความขัดแย้งนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 41.8% เชื่อว่าทำไม่ได้ และอีก 29.6% เชื่อว่าทำได้, ส่วนภารกิจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่ 41.1% เชื่อว่าทำได้ และอีก 30.2% เชื่อว่าทำไม่ได้ และภารกิจในการปฏิรูปการเมืองไทยให้มีความมั่นคงนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 35.3% ไม่แน่ใจ และอีก 35.1% เชื่อว่าทำได้
ส่วนมาตราต่างๆ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขมากที่สุด 3 มาตรานั้น อันดับแรกประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไขมาตรา 111 และ 112 โดยให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อันดับสองต้องการให้แก้ไขมาตรา 237 โดยให้ตัดทิ้งประเด็นการยุบพรรคการเมือง และให้ลงโทษเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริต ไม่ใช่เหมารวม และอันดับสามต้องการให้แก้ไขมาตรา 93 และ 98 โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว
สำหรับสิ่งที่ประชาชนต้องการฝากไปถึงคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ขอให้ช่วยทำให้บ้านเมืองสงบสุข มีความสมานฉันท์โดยเร็ว, ให้วางตัวเป็นกลาง ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และให้ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักในการทำงาน
ความคิดเห็นดังกล่าวมาจากการสำรวจความเห็นประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 1,260 คน ในระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค.ที่ผ่านมา