ประธานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เผยผลตรวจสอบชิ้นเนื้อจากปอดของนักท่องเที่ยวหญิงชาวเยอรมนีวัย 65 ปี ที่ป่วยด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลซานเปาโล หัวหิน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 18 พ.ค.52 ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอดอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
"ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพาะเชื้อและทดสอบทางชีวเคมี หาเชื้อที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิต ผลการตรวจปรากฏว่าไม่ได้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 แต่อย่างใด" นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าว
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นพ.ไพจิตร์ ได้แถลงข่าวร่วมกับ นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะนายกสมาคมไวรัสวิทยา และ พล.ต.ต.ณรงค์ศักดิ์ เสาวคนธ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และนายวัฒนา อู่วาณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิคุ้มกันวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ประธานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตได้นำไปศพชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.พบว่าปอดมีลักษณะผิดปกติจากการอักเสบอย่างรุนแรง จึงได้ตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาที่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพาะเชื้อและทดสอบทางชีวเคมี
"เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ สูโดโมแนส แอรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่มีความรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ เชื้อนี้พบได้ทั่วโลก มียาปฏิชีวนะรักษา แต่หากผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอหรือภูมิต้านทานต่ำ ก็จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นและเสียชีวิตได้รวดเร็ว" นพ.ไพจิตร์ กล่าว
ประธานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า ในการตรวจยืนยันผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทุกราย กระทรวงสาธารณสุขได้มีความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานแบบคู่ขนานกัน เพื่อความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นในระบบรายงานผลการตรวจ ประกอบการวินิจฉัยของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานมาตั้งแต่มีการระบาดของโรคซาร์ส และไข้หวัดนก
ดังนั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรฐานในการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และไม่มีการปกปิดข้อมูลใดๆ และขณะนี้ไทยยังคงมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เพียง 2 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อมาจากนอกประเทศ ยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ