ครม.เล็งห้ามโชว์โลโก้เหล้าทางทีวีเกิน 2 วินาที-ลงนสพ.ไม่เกินพื้นที่ 5%

ข่าวทั่วไป Tuesday May 26, 2009 18:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ....ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาในรายละเอียด โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

สาระสำคัญในกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทสามารถลงโฆษณาด้วยการข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เว้นแต่ภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มหรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง

กฎกระทรวงฉบับนี้ได้เพิ่มเติมเรื่องการกำหนดคำนิยามภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาพสัญลักษณ์ของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งกำหนดลักษณะและหลักเกณฑ์การแสดงภาพสัญลักษณ์ดังกล่าว รวมทั้งการเผยแพร่สัญลักษณ์ภายใต้สื่อทางโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออื่นใด โดยต้องมีการแสดงข้อความคำเตือนทุกครั้งตลอดเวลาที่มีการแสดง

"การเพิ่มเติมและบังคับใช้หลังจากที่มีร่างกฎกระทรวงจะชัดเจนมากขึ้นคือ เรื่องของเวลาบังคับตั้งแต่ 22.00 น.-05. 00 น. ซึ่งเนื้อหาโฆษณาจะไม่ใช่โฆษณาสรรพคุณหรือเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ อาจเป็นเนื้อหาในเชิงสร้างสรรค์และสาระประโยชน์ที่เราเห็นทั่วไป และการปรากฏโลโก้กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 2 วินาที ถ้าเป็นกรณีสื่อสิ่งพิมพ์กำหนดไว้ว่าตัวสัญลักษณ์ต้องไม่เกิน 5% ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด" นายวัชระ กล่าว

สำหรับประเด็นที่ส่งให้กฤษฎีกาตีความก่อน คือ สัญลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เป็นสัญลักษณ์เดียวกับบริษัทได้หรือไม่, กฎกระทรวงที่ออกมานี้จะทำให้ผู้ผลิตจะสามารถโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามกฎกระทรวงได้อย่างถูกต้อง และในส่วนของผู้ปฎิบัติหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์จะมีกติกาที่ชัดเจนขึ้นในการยึดถือหรือตัดสินว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองหรือผลิตภัณฑ์ที่นำ เข้าสู่สาธารณชนนั้นถูกหรือผิดอย่างไร

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี ยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยว่า หากเป็นกรณีป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาจะให้คำนิยามหรือความหมายที่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้กฤษฎีกาจะต้องไปตีความด้วยเช่นกัน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ