รมว.สาธารณสุข เผยเตรียมประกาศให้โรคไข้ปวดข้อยุงลาย"ชิคุนกุนยา"เป็นโรคติดต่อ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคต้องแจ้งให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขรับทราบ โดยจะประสานกระทรวงมหาดไทยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด เผยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้วกว่า 22,000 ราย ใน 28 จังหวัด พร้อมสั่งการให้สาธารณสุขทุกจังหวัดโดยเฉพาะ 48 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ป่วยคุมเข้มไม่ให้โรคแพร่ระบาดในพื้นที่
"กระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกประกาศให้โรคชิกุนคุนยาเป็นโรคติดต่อ และต้องแจ้งความภายใน 24 ชั่วโมง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ท้องถิ่นให้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง" นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าว
ล่าสุด สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 พ.ค.52 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาจำนวน 22,276 ราย ใน 28 จังหวัด แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งมี 48 จังหวัด เฝ้าระวังควบคุมไม่ให้มีผู้ป่วยในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ส่วน 28 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยต้องควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย จำกัดการแพร่ระบาดลงให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ รวมทั้งชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการทำสวนยางพาราและสวนผลไม้เพิ่มขึ้นมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการแพร่พันธ์ของยุงและเอื้อต่อการระบาดของโรค
ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของผู้ที่มาจากพื้นที่ระบาด เช่น กลุ่มคนสวน คนกรีดยาง กลุ่มทหาร กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา อาจนำโรคติดตัวมาด้วยจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
"สถานการณ์โรคไข้ชิคุนกุนยาในขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมีการระบาดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในภาคใต้ และเริ่มพบผู้ป่วยประปรายในภาคอื่นๆ ของประเทศ และหากผู้ป่วยเหล่านี้ถูกยุงลายในพื้นที่กัดอาจจะเกิดการถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนอื่นได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มียุงลายชุกชุม หากไม่มีการเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างเข้มข้นคาดว่าจะเกิดการระบาดได้"นายวิทยา กล่าว
ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ จ.ตรังป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คลอดลูกแล้วลูกเสียชีวิตหลังคลอดเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสงสัยว่าอาจมีสาเหตุจากติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยานั้น นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมทีมสวบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานควบคุมป้องกันโรค จ.สงขลา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังและโรงพยาบาลตรัง ดำเนินการสวบสวนหาสาเหตุและเก็บตัวอย่างเลือดมารดาและลูกส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ เพื่อดูว่าติดเชื้อโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ คาดว่าจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์