สภาพัฒน์ชี้ปัญหามลพิษนิคมฯ มาบตาพุดกระทบคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ชัดเจน

ข่าวทั่วไป Friday June 5, 2009 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เผยรายงานภาวะสังคมช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยระบุว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีประเภทอุตสาหกรรมต้นน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีสูง ใช้เงินลงทุนมากกว่า 8 แสนล้านบาทนั้น แม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างชัดเจน

"จากสถิติผู้เจ็บป่วยโรคมะเร็งใน จ.ระยอง ช่วงปี 2548-2550 มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ โดยเฉพาะในปี 2550 มีอัตราป่วยด้วยโรคมะเร็ง 156.23 ต่อประชากรแสนคน เทียบกับอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 130.8 ต่อประชากรแสนคน" นางสุวรรณี กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคภาวะแปรปรวนทางจิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากอัตราการฆ่าตัวตายใน จ.ระยอง สูงถึง 10.66 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นอัตราสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศ

ขณะที่ปริมาณโลหะหนักของตัวอย่างน้ำจากชุมชนมาบตะพุด มีแร่เหล็กเกินมาตรฐานสูงสุดถึง 151 เท่าต่อมิลลิกรัมลิตร แร่ตะกั่วเกินมาตรฐาน 47 เท่า และแร่แมงกานีสเกินมาตรฐานที่ 34 เท่า ขณะที่ลักษณะน้ำทิ้งมีค่าของแข็งละลายในน้ำบริเวณจุดระบายน้ำทิ้งลงคลองซากหมาก ตรวจพบว่ามีค่าที่ 6,852 มิลลิกรัมต่อลิตร จากค่ามาตรฐาน 5,000 มิลลิกรัมต่อลิตร

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า พื้นที่ที่มีปริมาณโลหะหนักในน้ำทิ้งสูงเกินมาตรฐาน ได้แก่ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก, นิคมอุตสาหกรรมผาแดง บริเวณรางระบายน้ำทิ้งของนิคมฯ ก่อนรวมกับน้ำทิ้งจากแหล่งอื่น และจุดระบายน้ำทิ้งจากรงระบายลงสู่ทะเล, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, เขตประกอบการอุตสาหกรรม บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย บริเวณจุดระบายน้ำทิ้งของระบบบำบัดน้ำเสียออกสู่ทะเล และนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุด บริเวณจุดระบายน้ำทิ้งลงคลองซากหมาก

ขณะที่อัตราการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยในเขตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย(VOCs:Volatile Organic Compound) ในอากาศมากกว่า 40 ชนิด และเป็นสารอินทรีย์ระเหยที่ก่อมะเร็งถึง 20 ชนิด

"ปัญหาน้ำทิ้งจากนิคมอุตสาหกรรมปนเปื้อนสารโลหะหนักที่สูงเกินค่ามาตรฐานปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั่วไป และการสะสมโลหะหนักในสัตว์น้ำ เป็นผลจากการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลุมฝังกลบที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของชายฝั่ง เช่น การถมทะเลเพื่อเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก" นางสุวรรณี กล่าว

หลังจากผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมและศาลปกครอง จ.ระยอง มีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สวล.)ประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตะพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษ ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนได้อุทธรณ์คำสั่งศาลคัดค้านการประกาศเขตควบคุมมลพิษโดยมีเหตุผลในเรื่องผลกระทบการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่ต้องการให้มาบตะพุดเป็นพื้นที่หลักและขยายสู่พื้นที่ใกล้เคียง

นางสุวรรณี กล่าวว่า การประกาศดังกล่าวเป็นเงื่อนไขในการบังคับใช้กฎหมายไปสู่การผลักดันมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกาศค่ามาตรฐานการควบคุมมลพิษที่สูงกว่าพื้นที่อื่นเป็นพิเศษให้สามารถจัดสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประเทศไทยเคยประกาศเขตควบคุมมลพิษมาแล้ว 17 พื้นที่ และการประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ได้ส่งผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีจังหวัดสมุทรปราการที่ประกาศให้ทั้งจังหวัดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษในปี 2537 ยังคงมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี

"แม้ว่าชุมชนในพื้นที่และภาคธุรกิจเอกชนจะมีความคิดและจุดยืนที่แตกต่างกันในเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอยู่บนหลักการของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตปฏิบัติตามมาตรฐาน และกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และปรับพฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคมมุ่งไปสู่ความเพียงพอมากขึ้น"นางสุวรรณี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ