กระทรวงสาธารณสุขยกระดับมาตรการรับสถานการณ์กรณีพบเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่ระบาดในประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมรับมือหากองค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศยกระดับความรุนแรงของการระบาดเป็นระดับ 6
"การเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ภายในประเทศที่เริ่มเปลี่ยนจากการพบผู้ป่วยติดเชื้อจากภายนอกประเทศมาเป็นการพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ" นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าว
วานนี้(4 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุขประกาศขึ้นทะเบียนคนไทยที่ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มเป็น 8 คนแล้ว และเริ่มพบการติดเชื้อจากคนสู่คนในประเทศเป็นครั้งแรก โดยเป็นชายวัย 19 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศแต่ติดเชื้อเนื่องจากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่เป็นมารดาซึ่งมีประวัติเดินทางกลับจากสหรัฐ
ทางการจะตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกประสานงานระดับชาติ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะทำหน้าที่เฝ้าระวัง ควบคุมโรค รักษาผู้ป่วย แนะนำดูแลผู้ป่วยที่บ้านในรายที่อาการไม่รุนแรง มีกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบด้านการสร้างเสริมพฤติกรรมและวัฒนธรรมสุขภาพ โดยการเร่งขยายการรณรงค์สร้างเสริมพฤติกรรมป้องกันโรคในชุมชนให้กว้างขวาง กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบในโรงเรียน กระทรวงแรงงานรับผิดชอบในโรงงาน
ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ขยายการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีการป้องกันโรคในวงกว้าง จะมีกรมประชาสัมพันธ์รับผิดชอบ และในด้านการดูแลความสงบเรียบร้อย กรณีการระบาดขยายตัวในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องปิดโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดจะมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า มาตรการสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด คือการค้นหาผู้ป่วยและให้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทุกคนสนใจเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง รีบไปพบแพทย์เมื่อรู้สึกไม่สบาย และรู้วิธีป้องกันตัวไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น เช่น ใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากจมูกเวลาไอจาม หลีกเลี่ยงการพบปะสัมผัสผู้อื่นในช่วง 7 วันหลังกลับจากการเดินทาง เป็นต้น
สำหรับกลุ่มนักศึกษาโครงการพิเศษที่เดินทางไปฝึกประสบการณ์ในช่วงปิดภาคการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งจะเดินทางกลับมาลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาใหม่ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะขอความร่วมมือบริษัทที่รับดำเนินการ กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาใจใส่ติดตามดูแลนักศึกษากลุ่มนี้เป็นพิเศษ และรายงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบหากเด็กมีอาการป่วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในสถาบันการศึกษา โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักควบคุมโรคในพื้นที่จะเข้าไปประสานการดูแลอย่างต่อเนื่อง