ผบ.ทบ.ยอมรับการใช้กำลังปราบปรามแก้ปัญหาไฟใต้ไม่ตก ต้องเร่งพัฒนาเข้าสู้

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2009 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)กล่าวว่า การใช้กำลังเข้าปราบปรามไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องใช้แนวทางการพัฒนาพื้นที่เอาชนะกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดีไม่ให้แบ่งแยกดินแดนได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยกลุ่มที่ลงมือก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ยังเป็นกลุ่มเดิมที่เปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต่างเข้าใจและให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น

"สถานการณ์ข้างหน้าต้องเรียบร้อยแน่นอน สถานการณ์สุดท้ายต้องสงบ...จุดใหญ่ เราต้องรักษา 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ให้ถูกแบ่งแยกได้ คือต้องทำให้คน 2 ล้านคน เกิดความเข้าใจ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งแนวทางต้องใช้การพัฒนา"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงในขณะนี้ยังไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการจับกุมกลุ่มที่ก่อเหตุมาดำเนินคดี ซึ่งการที่เหตุการณ์ในพื้นที่ที่กลับมารุนแรงอีกครั้งน่าจะเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปทำงานในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบต้องสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อหวังคุมมวลชนเอาไว้

ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือกับผู้บังคับหน่วยต่างๆ ในพื้นที่กำชับให้เข้าถึง และดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกับการตั้งด่านสกัดอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันเหตุร้ายโดยเฉพาะการก่อเหตุในลักษณะคาร์บอมบ์ ซึ่งขณะนี้ถือว่าประชาชนกว่า 2.1 ล้านคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วยดีแล้ว จากนี้จะต้องใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อต่อสู้กับผู้ก่อเหตุ

สำหรับการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังจำเป็นหรือไม่นั้น ผบ.ทบ. กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแนวทางของรัฐบาล รวมถึงสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ หากมีเหตุจำเป็น เจ้าหน้าที่ สามารถเสนอให้รัฐบาลต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ที่ประชุมมีมติจัดทำคู่มือปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้ทุกหน่วยงานยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน โดยมอบหมายให้ ผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 และ ผอ.ศอ.บต.ยกร่างคู่มือดังกล่าว ก่อนนำกลับมาเสนอคณะอนุกรรมการฯอีกครั้ง

นอกจากนี้ ได้มีการจัดเตรียมมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจนักลงทุนในพื้นที่ ทั้งด้านเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจัดตั้งบริษัท และการพักหนี้เกษตรกร โดยในปี 53 ตามแผนปฏิบัติการในพื้นที่ จะใช้งบประมาณกว่า 16,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำปีตามงบปกติ 6,000 ล้านบาท และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ภาคใต้ วันพรุ่งนี้ จะได้นำผลการหารือของคณะอนุกรรมการฯเสนอต่อที่ประชุมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ