รมว.คมนาคม ระบุหากครบกำหนด 1 เดือนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ขยายเวลาศึกษาโครงการรถโดยสารเอ็นจีวี 4 พันคันให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการอย่างไร หากยังไม่ได้ข้อสรุปก็คงต้องล้มโครงการ
"เมื่อครบกำหนดระยะเวลาศึกษารายละเอียดโครงการเพิ่มเติมที่ 30 วันแล้ว ครม.จะต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างไร ไม่ใช่ซื้อเวลาต่อไปอีก โดยหากจะล้มโครงการก็ให้ตัดสินใจเลย"นายโสภณ กล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวว่า การขอเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมอีก 30 วันในประเด็นหนี้สินของ ขสมก.ถือว่ายอมรับได้ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยพิจารณาในเรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นๆ เช่น การปรับปรุงเส้นทางเดินรถนั้นถือว่าเป็นรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งที่ผ่านมา ขสมก.ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้อยู่แล้ว แต่ก็จะมีการหารือร่วมกับรถร่วมเอกชนเพิ่มเติม เพราะถือว่าเอกชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ
ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(บอร์ดสภาพัฒน์)เรื่องแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ซึ่งแผนดังกล่าวรวมไปถึงโครงการเช่าและซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิง หรือโครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4 พันคัน เป็นเวลา 10 ปี
โดยที่ประชุม ครม.มีมติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามข้อเสนอของบอร์ดสภาพัฒน์ คือ การปรับปรุงข้อมูลแผนปรับปรุงการบริหารจัดการของ ขสมก.ให้ชัดเจนใน 4 ประเด็น โดยใช้เวลา 1 เดือน คือ 1.ความเหมาะสมของเส้นทางเดินรถ 145 เส้นทาง 2.ความเหมาะสมของประมาณการปริมาณผู้โดยสาร 3.ผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการที่มีรายได้น้อย และ 4.ความเหมาะสมของประมาณการรายได้และต้นทุนของโครงการที่สามารถสะท้อนความคุ้มค่าของการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บอร์ดสภาพัฒน์ยังเสนอว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาตัดสินใจในการรับภาระหนี้สินเดิมของ ขสมก. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ออกจากแผนปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยเสนอให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณร่วมกันพิจารณาแนวทางการให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินเดิมของ ขสมก.และเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป