H1N1 FLU: ผู้เชี่ยวชาญเวิลด์แบงก์เตือนคนไทยอย่าตระหนกไข้หวัด 2009 เกินเหตุ

ข่าวทั่วไป Thursday July 2, 2009 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลกแนะนำให้ประชาชนตระหนัก แต่อย่าตื่นตระหนกกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และสนับสนุนทุกองค์กรสามารถเตรียมความพร้อมดำเนินแผนประคองกิจการ(Business Continuity Plan) รับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโรงดังกล่าว

"ธนาคารโลกไม่ต้องการให้แต่ละประเทศตื่นตระหนกกับสภาวการณ์ระบาดที่เกิดขึ้น เพราะจากประวัติศาสตร์การระบาดของโรคพบว่าในระดับที่ความรุนแรงต่ำสุดมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.4 ล้านคนจะสร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก GDP ของโลกจะตกลง 0.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับสภาวการณ์ปัจจุบันยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก"นายสุทยุต โอสรประสพ ผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า เป็นการยากที่จะระบุในเวลานี้ว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจโลกเท่าใด เนื่องจากสภาวการณ์ระบาดยังผันแปรอยู่ตลอดเวลา และเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกพอดี แต่จากการศึกษาพบว่าในกรณีเกิดการระบาดของโรคที่มาของความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกจะมีด้วยกัน 3 ทางได้แก่ การเสียชีวิตของวัยแรงงานจากการติดเชื้อ, ผลกระทบจากอุปทานชั่วคราว หมายถึงการเจ็บป่วย ซึ่งนำสู่การหยุด ขาด ลางาน ส่งผลให้กระบวนการผลิตลดลง และผลกระทบทางอุปสงค์ ซึ่งเกิดจากความพยายามของคนในการที่จะทำให้ตัวเองไม่ติดเชื้อ

"การเสียชีวิตสร้างผลกระทบ 12% การขาดลางานสร้างผลกระทบ 28% ขณะที่ผลกระทบทางอุปสงค์สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุดถึง 60% ผู้คนในสังคมพยายามลดการเดินทางโดยเฉพาะทางอากาศ ลดการบริโภคสินค้าหรือบริการ หยุดท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงการใช้บริการขนส่งมวลชน ไม่ช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าหรือไปโรงภาพยนตร์ ซึ่งยิ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่จำเป็น ภาครัฐต้องพยายามไม่ให้เกิดภาวะตื่นตระหนกในสังคม และให้ความรู้ต่อประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ และเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยรับมือกับการระบาดของโรคได้ดี" นายสุทยุต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเห็นว่าทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนควรเริ่มจัดเตรียมและปฏิบัติการแผนบีซีพี เพื่อช่วยลดผลกระทบของการระบาดต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ทำให้องค์กรสามารถทำการต่อได้ โดยที่การปฏิบัติการขององค์กรจะปรับให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของการระบาด นอกจากนี้ ทุกองค์กรสามารถจัดระดับความสำคัญของงานและตำแหน่งคน และจัดตั้งทีมจัดการฉุกเฉินขององค์กรเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตต่างๆ

"การจัดเตรียมแผนบีซีพีไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันภาวะการตื่นตระหนกแล้ว ยังช่วยให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และชะลอความเสียหายทางธุรกิจได้ในช่วงการระบาด" นายสุทยุต กล่าว

นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งสร้างระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่ง เพื่อตอบสนองการระบาดของโรค ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ รัฐบาลของแต่ละประเทศ รวมถึงองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา(Aid Donor) ต้องไม่ดำเนินการตัดงบประมาณที่จำเป็นทางด้านสาธารณสุขอย่างเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างครั้งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทำการตัดงบประมาณด้านสาธารณสุข ส่งผลให้มาตรฐานด้านคุณภาพชีวิตตกลง เกิดปัญหาทั้งการขาดแคลนสารอาหารที่จำเป็นในเด็ก และภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์

"ธนาคารโลกได้จัดตั้งกองทุน Fast Track ด้วยวงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปซื้อยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ พัฒนาการให้บริการในโรงพยาบาล ดำเนินแผนการรณรงค์สู่ประชาชาน ส่งเสริมการเฝ้าระวัง รวมถึงริเริ่มมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศเม็กซิโก ได้ทำเรื่องของใช้งบประมาณจากกองทุนนี้แล้ว 205 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้ติดต่อเพื่อขอเบิกใช้งบประมาณดังกล่าว" นายสุทยุต กล่าว

กองทุน Fast Track ยังได้นำไปสมทบกับกองทุนเดิมที่จัดตั้งขึ้นเมื่อครั้งการระบาดของไข้หวัดนกในปี 2549 ภายใต้โครงการ The Global Program for Avian Influenza Control and Human Pandemic Preparedness and Response (GPAI) ปริมาณเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีประเทศที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้แล้วรวม 57 ประเทศทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ