นายกฯ ชี้การเมืองไร้เสถียรภาพขัดขวางการพัฒนาประเทศให้เจริญอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2009 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ"ทิศทางการพัฒนาประเทศให้เจริญอย่างยั่งยืนของรัฐบาล" ในการประชุมประจำปีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ว่า หากการเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญอย่างยั่งยืน เพราะเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างประชาธิปไตยในประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง

"ถ้าภาวะการเมืองยังเป็นอย่างที่เป็นมาในช่วงสามสี่ปีนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดขึ้น...พลเมืองและนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ดีที่มีวัฒนธรรมสอดคล้องกับการส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตยจริงๆ มันมีมากไปกว่าเรื่องของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการลงมติในสภา" นายอภิสิทธิ์ กล่าวในการสัมมนาระดมสมองเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11(ปี 55-59)

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งจิตสำนึกให้ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย การดำรงมาตรฐานทางจริยธรรมในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ การยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น การไม่ใช่ความรุนแรง เพื่อประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึกได้อย่างแท้จริง

"ถ้าค่านิยมยังเป็นว่าเรื่องของกฎหมายต้องไปรับใช้อำนาจทางการเมือง ถ้าค่านิยมเป็นว่าเราสามารถใช้คนจำนวนมากเข้าไปข่มขู่เรียกร้องได้ตลอดเวลา ประชาธิปไตยจะไม่เติบโต" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะผู้จัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ควรจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการกำกับทุกโครวการที่จะนำไปบรรจุในแผน โดยเน้นให้อยู่บนพื้นฐานของความพอดี สร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความเป็นเหตุเป็นผล พร้อมกันนั้น จะต้องมีการประเมินภาวะเศรษบกิจโลกและเศรษฐกิจไทยควบคู่กันไปบนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยประสบความยากลำบาก การจัดทำแผนฯ 11 ต้องนำไปสู่การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น

นายยกรัฐมนตรี เน้นย้ำ 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย การเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก สิ่งสำคัญไทยต้องกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยทำให้เป็นตลาดเดียว ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทย สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ และต้องยอมรับว่าโครงสร้างเศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนไป โดยจะเห็นได้จากภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ให้มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

และ ปัญหาโลกร้อนที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะทางด้านพลังงานและอาหารในแผนฉบับนี้จะต้องมีการจัดสรรระบบน้ำ หรือภาคการเกษตรที่สามาถรวางรากฐานในการสร้างปัจจัยด้านอาหารและพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาคการเกษตร ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยการจัดทำแผนฉบับนี้จะพยายามจัดทำให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไมว่าจะเป็นการจัดการระบบน้ำ การจัดสรรที่ดิน ระบบการประกันราคาพืชผล ขณะที่ การพัฒนาวิถีชีวิต รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะนี้วิถีชีวิตคนเมืองจะเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไปด้วย สิ่งที่จะทำได้คือเราต้องเน้นการผลิตสินค้าโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การส่งเสริมภาคบริการให้กลับมามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาด้านสังคมว่า จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ การศึกษา หรือผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้าจะต้องมีการจัดทำให้เป็นระบบที่ลงตัวมากยิ่งขึ้น

ด้านสัญญาประชาคมใหม่ นายกรัฐมนตรี มองว่า สิ่งสำคัญคือเรืองการเมือง ที่จะต้องเน้นย้ำให้เกิดธรรมาภิบาล รวมถึงค่านิยมที่ถูกต้อง และสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรมทีไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาระบบประชาธิปไตยให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การจัดทำแผนไม่ว่าจะเป็นโครงการใด ๆ ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับภาครัฐต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ