รมว.สธ.เตือนเฝ้าระวังพิเศษ 15 โรคมากับฤดูฝน หวั่นไข้หวัดนกกลับมา

ข่าวทั่วไป Saturday July 18, 2009 09:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนทำให้โรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะ 15 โรคสำคัญ ที่ต้องเฝ้าระวังช่วงนี้ เช่น โรคไข้เลือดออก ฉี่หนู ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย อุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไข้สมองอักเสบเจอี เยื่อบุตาอักเสบ หรือ ตาแดง ปอดอักเสบและไข้หวัดนก นอกเหนือจากไข้หวัด 2009 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่

โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้ เป็นช่วง 90 วันอันตรายได้สั่งให้สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังเป็นพิเศษให้แพทย์ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียด รวมทั้งโรคที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังต่อเนื่อง 2 โรค คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่และไข้หวัดนกที่มีแหล่งระบาดมาจากสัตว์ปีกหลังไม่พบติดเชื้อในคนมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ประมาทไม่ได้

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกันโรคติดต่อที่เกิดในฤดูฝนส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกัน โดยมี 5 กลุ่มรวม 15 โรค

ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหารดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือกินอาหารสุกๆ ดิบๆ

กลุ่มโรคที่ 2 เป็นโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนังที่พบบ่อย คือ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ ไข้ฉี่หนู อาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรงและตาแดง 3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือ หอบเหนื่อย

4. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค คือ ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ไข้สมองอักเสบเจอี มียุงรำคาญ มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนาเป็นตัวนำโรค และโรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่า เป็นพาหะนำโรค ทั้ง 3 โรคนี้ อาการเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบ อาจทำให้พิการภายหลังได้ และ 5.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา

นอกจากนี้ นพ.ปราชญ์ ยังเปิดเผยถึงการเฝ้าระวัง 15 โรคที่เกิดในฤดูฝนตลอดเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ราย เสียชีวิตจากปอดบวม 8 ราย อุจจาระร่วงเฉียบพลัน 3 ราย ไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบ อย่างละ 1 ราย สถานการณ์โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ ขณะเดียวกัน ในช่วงหน้าฝนต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนานๆ และอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน

ขณะที่นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าอาการนำของโรคติดเชื้อมีลักษณะเด่นหลักๆ คือ อาการไข้ ดังนั้น ช่วงนี้ หากมีไข้สูงและเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น หรือไข้ยังไม่ลดภายใน 3 วัน ต้องไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง โดยเฉพาะถ้าเป็นกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่ายาลดไข้ต้องระมัดระวังการใช้กับโรคในฤดูฝน คือ ยาจำพวก แอสไพริน ห้ามกินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค ที่สำคัญ 3 โรคคือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ หวัดใหญ่ และโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าว ทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอยู่แล้ว หากได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีก จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้นทำให้เสียชีวิตได้ง่าย

สำหรับการป้องกันโรคในฤดูฝนนั้น นพ.มล.สมชาย กล่าวว่า ขอให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค รวมทั้งควรดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอมและล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ