นพ.วิทิต อรรคเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ยืนยันกระบวนการผลิตวัคซีนต้นแบบป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของไทยเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ หลังได้รับการสนับสนุนจากด้านเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก(WHO)
หลังจากได้วัคซีนต้นแบบแล้วจะไปสู่ขั้นตอนการทดลองในสัตว์และคน โดยมีอนุกรรมการ 3 ชุด ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามขั้นตอนความปลอดภัยตามหลักสากล ได้แก่ อนุกรรมการทดลองวัคซีนในคน อนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัคซีน และอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตวัคซีน ซึ่งจะมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือร่วมเป็นกรรมการ เช่น สภากาชาดไทย, คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ, ผู้เชี่ยวชาญของ อภ., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น
"วัคซีนต้นแบบคาดว่าจะเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะนำไปทดลองในสัตว์และคน...เมื่อผลิตวัคซีนออกมาแล้ว หากไม่มั่นใจในความปลอดภัยก็จะไม่มีการนำมาใช้รักษาคนแน่นอน" นพ.วิทิต กล่าว
ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าใจผิดว่างบประมาณ 600 ล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติให้จัดซื้อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ล้านโด๊ส จากบริษัท ซาโนฟี่ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก ไม่ใช่งบลงทุนผลิตวัคซีน โดยบริษัทดังกล่าวจะจัดส่งถึงไทยในเดือน ธ.ค.นี้ สำหรับการสำรองวัตถุดิบเพื่อผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์(ทามิฟูล) ขณะนี้ อภ.เร่งผลิตเพื่อสำรองให้ได้ปริมาณ 20 ล้านเม็ด ภายในเดือน ส.ค.นี้ รวมกับสต็อกเดิมอีก 4 ล้านเม็ด รวมแล้วมียาสำรองในระบบทั้งสิ้น 24 ล้านเม็ด
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดสาธารณสุข กล่าวว่า แม้จะมีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้สาธารณชนรับทราบเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่กระทรวงฯ ยังได้รับรายงานและรวบรวมข้อมูลทุกวัน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 คือ เชื้อแพร่กระจายทั่วประเทศแล้ว ทำให้ความสำคัญของห้องปฏิบัติการในการตรวจยืนยันเชื้อลดลงแล้ว จะมีเพียงการเฝ้าระวังกรณีมีอาการรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ส่วนที่มีผลสำรวจจากโพลต่างๆ ระบุว่าประชาชนยังไม่เชื่อมั่นรัฐบาลและกระทรวงฯ ในการรับมือการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ฯ นั้น คิดว่าเป็นที่การสื่อสารมากกว่า ซึ่งต้องแก้ไขปรับปรุง
"กระทรวงฯ ได้ยึดตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ที่จัดทำตั้งแต่ พ.ศ.2549 ซึ่งได้ปรับตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโรคตลอดเวลา อีกประเด็นหนึ่งคือความเห็นนักวิชาการ ยอมรับว่าแต่ละคนมีความเห็นไม่เหมือนกัน อีกทั้งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ กระทรวงฯ จะพยายามเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น" นพ.ไพจิตร์ กล่าว
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันพรุ่งนี้(20 ก.ค.) จะเริมแจกจ่ายคู่มือป้องกันไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 แก่ประชาชน ซึ่งเบื้องต้นจะจัดพิมพ์ประมาณ 4 ล้านเล่ม เริ่มแจกจ่ายในกรุงเทพฯ ตามจุดบริการของ รพ., ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ส่วนต่างจังหวัดจะเริ่มแจกได้ในวันที่ 21 ก.ค. ประชาชนสามารถติดต่อขอรับได้ที่ศาลากลางจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจัหวัด(สสจ.) และโรงพยาบาลในจังหวัด