H1N1 FLU:สธ.เผยหวัด 09 คร่าชีวิตคนไทยเพิ่มเป็น 44 ราย ป่วยสะสม 6,776 ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2009 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้ว 44 ราย เพิ่มขึ้น 20 ราย จากการรายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่มียอดขึ้นทะเบียนผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวสะสมตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.-21 ก.ค.52 เป็น 6,776 ราย เพิ่มจาก 4,469 ราย ในจำนวนนี้ยังเป็นผู้ป่วยที่ยังต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 35 ราย และเป็นผู้ป่วยที่มีอาการน่าเป็นห่วง 7 ราย

"พบผู้ป่วยยืนยันในรอบ 83 วัน ทั้งหมด 6,776 ราย รักษาหายแล้ว 6,697 ราย เสียชีวิต 44 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาลขณะนี้มีอาการหนัก 7 ราย" นพ.ไพจิตร์ ระบุในเอกสารเผยแพร่

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้เชื้อโรคดังกล่าวได้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อเท่ากัน สำหรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 44 ราย เป็นชายและหญิง 22 รายเท่ากัน อายุต่ำสุด 4 เดือน มากสุด 91 ปี

"เมื่อเปรียบเทียบในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 16—21 กรกฎาคม 2552 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 20 ราย เฉลี่ยประมาณ 3 รายต่อวัน ซึ่งไม่แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะโรครุนแรงขึ้น" นพ.ไพจิตร์ กล่าว

ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดพบว่า 29 ราย หรือ 66% มีโรคประจำตัว มากที่สุดคือโรคอ้วน และโรคเบาหวาน ร่วมกับความดันโลหิตสูงหรืออื่นๆ อย่างละ 6 ราย รองลงมาได้แก่ ไตวาย โรคหัวใจ และมะเร็ง อย่างละ 3 ราย ตั้งครรภ์ 2 ราย ที่เหลือเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบเรื้อรัง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ปอดอักเสบติดเชื้อซ้ำ ร่างกายพิการ และเด็กเล็ก อย่างละ 1 ราย

สำหรับมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มความเข้มข้นในช่วง 5 เดือนหลังจากนี้ไป จะเน้นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่คนในครอบครัวและสถานที่ทำงาน ซึ่งจะรองรับมาตรการการหยุดงานหยุดเรียนจนหายป่วยของรัฐบาล ที่ให้พักรักษาตัวที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยให้แยกผู้ป่วยไม่ปะปนคนอื่น

"ระยะนี้การแพร่เชื้อของโรคนี้จะเพิ่มแบบทวีคูณ ผู้ป่วย 1 คนอาจแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 2 คนโดยเฉลี่ย หากสามารถสกัดกั้นจุดนี้ได้ ก็จะสามารถชะลอการแพร่เชื้อลงได้มาก" นพ.ไพจิตร์ กล่าว

ส่วนยุทธศาสตร์การรักษา มุ่งเน้นรักษาเร็ว ในผู้ที่มีอาการรุนแรงและกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์ โรคอ้วน และเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งหลังติดเชื้อมีโอกาสอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งควรได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์โดยเร็ว กระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสในสัปดาห์นี้ทั้งหมด 24 ล้านเม็ด กระจายให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันได้มุ่งป้องกันในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เพื่อคงกำลังดูแลผู้ป่วยอย่างเพียงพอ และสั่งซื้อหน้ากากอนามัย 10 ล้านชิ้นเพื่อใช้ในสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ และประชาชนในต่างจังหวัดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ