รมว.สาธารณสุข เผยเตรียมระดมอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 9.8 แสนคน ปูพรมออกค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดังกล่าว
"จะระดมพลัง อสม.ทั่วประเทศ ออกเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำการป้องกันโรค และค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากป่วยจะต้องให้พบแพทย์ทันที มั่นใจว่ามาตรการนี้จะลดการเสียชีวิตได้ โดยจะเริ่มปฏิบัติการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2552 นี้เป็นต้นไป" นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ระบุในเอกสารเผยแพร่
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 44 ราย เพิ่มขึ้น 20 ราย จากสัปดาห์ก่อน ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวสะสมตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.-21 ก.ค.52 เพิ่มเป็น 6,776 ราย ในจำนวนนี้ยังเป็นผู้ป่วยที่ยังต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 35 ราย และเป็นผู้ป่วยที่มีอาการน่าเป็นห่วง 7 ราย
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของโรคดังกล่าวอยู่ในขั้นที่มีการแพร่ระบาดกระจายทั่วประเทศ และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นนอกจากมาตรการควบคุมการระบาดแล้ว อีกมาตรการที่สำคัญคือ การรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับแนวทางการรักษาพยาบาล และจัดทำเป็นคู่มือสำหรับแพทย์ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน เน้นให้การรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย หรือผู้ที่ป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว พบว่ามีสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต 2 เรื่องสำคัญ คือ เป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย ได้แก่ เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง พบกว่า 60% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด อีกสาเหตุหนึ่งคือ เมื่อป่วยแล้วมาพบแพทย์ช้าเกินไป ทำให้โรคลุกลามไปมากจนไม่สามารถรักษาได้
ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เชื้อดังกล่าวมีแนวโน้มกระจายไปสู่ครอบครัวและชุมชนต่างๆ ดังนั้นจึงมอบหมายให้ อสม.ที่มีกว่า 980,000 คนทั่วประเทศและมีประจำทุกหมู่บ้านเข้ามาเป็นกำลังเสริมในการคัดกรองผู้ป่วยในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยจะออกเยี่ยมบ้านในความรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน สัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อค้นหาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน ไต ผู้ที่อ้วน ผู้สูงอายุมากว่า 65 ปี เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามคู่มือของกระทรวงสาธารณสุข หากพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงจะแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ส่วน อสม.จะติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ