กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจเรื่องความต้องการของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 91.2% ต้องการให้มีการทำประชามติเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการออกเสียงว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข
จากผลการสำรวจยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 50% เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้ เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งอยู่ที่ตัวบุคคลไม่ใช่กฎหมาย อีกทั้งความขัดแย้งยังลุกลามไปไกลเกินกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยได้
ทั้งนี้จากการเสนอรายงานผลการศึกษาแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ และแนวทางการปฏิรูปการเมืองไทย ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอว่าในระยะสั้นควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 มาตรา เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 มาตรา
ประกอบด้วย การแก้ไขมาตรา 111-121 โดยให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด, แก้ไขมาตรา 237 โดยให้ตัดทิ้งประเด็นการยุบพรรคการเมืองและให้ลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตการเลือกตั้งเฉพาะคนไม่ใช่เหมารวม, แก้ไขมาตรา 190 โดยยังคงให้การทำสัญญากับต่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ให้กำหนดประเภทของหนังสือสัญญาให้ชัดเจนว่าแบบไหนที่ต้องให้สภาเห็นชอบ
แก้ไขมาตรา 93-98 โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว(รวมจำนวน ส.ส.เขต 400 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 100 คน, แก้ไขมาตรา 266 โดยให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปมีบทบาทต่อการบริหารงานของข้าราชการประจำ และงบประมาณในโครงการต่างๆ ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ และแก้ไขมาตรา 265 โดยให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น เลขานุการรัฐมนตรีได้
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่ให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 47.1% ยังคงไม่เห็นด้วย ขณะที่อีก 41.2% เห็นด้วย และอีก 11.7% ไม่แน่ใจ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนของผู้ไม่เห็นด้วยลดลงจาก 53.5% มาอยู่ที่ 47.1%
ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ อายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,119 คน ตั้งแต่วันที่ 25-28 ก.ค.52