นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการลดผู้ป่วยหนักและลดการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับชาติ ซึ่งมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ โดยเร่งให้ความรู้กับแพทย์ทุกคนในการดูแลรักษาตามแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้คลินิกทั่วประเทศ
แนวทางการกระจายยาต้านไวรัสฯ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 8 ข้ออย่างเคร่งครัด คือ 1.คลินิกทั่วประเทศจะต้องมีแพทย์เป็นผู้ดูแลและเป็นผู้สั่งจ่ายยาได้เท่านั้น 2.คลินิกจะต้องจัดส่งรายงานหลักฐานการจ่ายยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน 3.คลินิกจะต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในคลินิกทุกแห่ง 4.คลินิกที่ต้องการมียาต้านไวรัสไว้ในคลินิก จะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการและแพทย์ในคลินิกทุกคนจะต้องได้รับการอบรม และประเมินความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ
5.ให้คลินิกมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล 6.คลินิกควรมีกลไกในการติดตามผู้ป่วยทุกรายหลังการรักษา 7.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดระบบการตรวจสอบคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งในเรื่องมาตรฐานการดูแลรักษา การสั่งจ่ายยา การป้องกันการติดเชื้อในคลินิกทุกเดือน และ 8.คลินิกที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยจะจัดส่งมาตรการดังกล่าวให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศนำไปให้คลินิกทุกแห่งในพื้นที่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้พบปัญหาการดื้อยาต้านไวรัสฯ 5 ราย ใน 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น 2 ราย แคนาดา เดนมาร์ค และฮ่องกง แห่งละ 1 ราย แต่ยังไม่พบในไทย การดื้อยาดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกประเทศต้องเฝ้าระวังการใช้ยาอย่างใกล้ชิด และให้ยาอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด โดยใช้รักษาผู้ป่วยเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส จะไม่ใช้เพื่อป้องกันเพราะไม่ได้ผล ซึ่งในประเทศไทย ยานี้จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป มีเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคลินิกที่เข้าโครงการเท่านั้น
อย่างไรก็ตามประเทศที่มีการดื้อยาก็ยังคงใช้ยาตัวเดิม ขณะเดียวกันต้องมีการสำรองยาต้านไวรัสคือ ยาซานามิเวียร์(Zanamivir) สำหรับเชื้อดื้อยา เป็นยาตัวที่ 2 ตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งไทยได้สั่งซื้อจำนวน 20,000 ชุดใช้งบประมาณทั้งหมด 9 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขีดความสามารถของห้องไอซียูในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต โดยเพิ่มเครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวม 210 เครื่อง เป็นเครื่องสำหรับผู้ใหญ่ 180 เครื่อง และสำหรับเด็ก 30 เครื่อง ใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ขณะที่การดูแลกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีประมาณปีละ 8 แสนคน ได้ให้ อสม.ออกแนะนำและคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยทุกหมู่บ้าน/ชุมชนประมาณ 8 หมื่นแห่ง สำหรับสถานพยาบาลให้ปรับการนัดตรวจครรภ์ให้ห่างขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงรับเชื้อในโรงพยาบาลเมื่อมาฝากครรภ์ และจัดระบบเยี่ยมบ้านหรือติดตามอาการทางโทรศัพท์อย่างทั่วถึง ในส่วนของหอผู้ป่วยทุกแห่งขอให้ผู้ที่เป็นไข้หวัดงดเยี่ยมผู้ป่วยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ไปสู่ผู้ป่วย ซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย