นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่ามีการขายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ผ่านทางเว็บไซต์นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เข้มงวดในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีการสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
โดยขอเตือนประชาชนว่าขณะนี้ช่องทางในการได้รับยาดังกล่าวเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 มีเพียงการสั่งจ่ายยาผ่านแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกแห่ง ส่วนคลินิกจะเริ่มต้นได้ประมาณกลางสัปดาห์หน้า และต้องเป็นคลินิกที่ผ่านการคัดเลือกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยจะมีการขึ้นทะเบียนและมีป้ายรับรองของกระทรวงฯ
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบเว็บไซต์ที่ขายยาโอเซลทามิเวียร์ พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และมีการขายยาหลายชนิดรวมอยู่กับกลุ่มยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าถึงยาเหล่านี้ได้ยากและมีแรงจูงใจในการซื้อมาใช้น้อย เพราะประเทศไทยมีช่องทางในการเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่และกำลังจะมีการกระจายยาลงไปในระดับคลินิก ต่างจากยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศที่มีความต้องการทางเว็บไซต์มากกว่าเพราะเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดความอายจึงหันมาสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตแทน
"การขายยาผ่านเว็บไซต์หากพบจะเข้าข่ายความผิดฐานโฆษณาไม่ได้รับอนุญาติซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ และหากพบว่าเป็นยาปลอมก็มีโทษอีกเช่นกัน ซึ่งจากการที่สธ.มีนโยบายกระจายยาในระดับคลินิก ทำให้จะมีการตรวจสอบการใช้ยาที่เข้มงวดมากกว่าเดิม โดยคลินิกต่างๆต้องปฏิบัติตามที่สธ.วางเกณฑ์ไว้" นพ.พิพัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า หากตรวจพบว่าคลินิกแห่งใดลักลอบขายยาโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษหนักทั้งการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องส่งเรื่องให้แพทยสภาวินิจฉัยเพราะถือว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรม