(เพิ่มเติม) รัฐบาลเร่งเดินหน้าแผนSP2วางรากฐานสังคมไทยยั่งยืน หลังโชว์ผลงาน 6 เดือน

ข่าวทั่วไป Thursday August 6, 2009 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือนผ่านสถานีโทรทัศน์ NBT เวลา 10.00 น.วันนี้ พร้อมกับจัดพิมพ์หนังสือ "6 เดือน กว่า 100 มาตรการ หลายล้านความสุข" ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในช่วง ม.ค.-มิ.ย.52 ไว้สำหรับแจกจ่าย ส.ส. ส.ว. และสื่อมวลชน

ทั้งนี้รัฐบาลระบุว่า หลังจากที่แก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนบรรเทาลงแล้ว รัฐบาลได้เตรียมวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2(SP2) หรือไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีองค์ประกอบของการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในสาขาสำคัญที่จะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งวางรากฐานในทางสังคมเพื่อสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนให้ยั่งยืนต่อไป

สำหรับหนังสือ "6 เดือน กว่า 100 มาตรการ หลายล้านความสุข" มีเนื้อหาหลัก 5 ส่วนที่สำคัญ ประกอบด้วย

1.การแก้ไขและบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชน แบ่งเป็น - การสร้างรายได้ ซึ่งเป็นการใช้กองทุนที่เป็นแหล่งเงินทุนที่มีความคล่องตัวสำหรับชุมชนและฐานรากเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อมกับการดำรงรายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรที่เป็นพืชหลักสำคัญ รวมทั้งการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับกลุ่มคนที่สมควรได้รับการดูแล และเป็นขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มคนที่เป็นกำลังสำคัญและทำประโยชน์ให้แก่สังคมไทย เช่น ผู้สูงอายุ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)

  • การลดค่าใช้จ่ายและลงทุนทางสังคมเชิงรุก เป็นการลดภาระของผู้ปกครองในเรื่องการศึกษาของบุตรธิดา พร้อมกับสร้างโอกาสให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นและเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาในอนาคตที่ต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งลดค่าครองชีพในการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการเพิ่มเงินพิเศษให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยผ่านโครงการเช็คช่วยชาติและสิ่งตอบแทนแก่กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในการให้ความสนับสนุนต่อภารกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในนวงกว้าง ซึ่งโครงการภายใต้มาตรการกลุ่มนี้นับว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีผลตอบสนองด้านความพึงพอใจของประชาชนในระดับที่สูง
  • การบรรเทาการว่างงาน และเตรียมคนสำหรับการพัฒนาในอนาคต ประกอบด้วยมาตรการที่มุ่งรองรับการหดตัวของธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีแนวโน้มรุนแรงในช่วงแรกของการเข้ามาทำงานของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานและชะลอการเลิกจ้างงาน และการปรับกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของโครงสร้างตลาดและแรงงาน ภายใต้โครงการเพิ่มศักยาภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน(โครงการต้นกล้าอาชีพ)
  • การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการสำคัญ คือ 1.มาตรการด้านการเงิน ด้วยการปล่อยสินเชื่อและการค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง, 2.มาตรการด้านภาษี โดยรัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการภาษีเพื่อสร้างสภาพคล่องที่เอื้อต่อการรักษาสถานภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการ 4 มาตรการ คือ มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน, มาตรการสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และโครงสร้างองค์กร 3.มาตรการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า 1 ปี, ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงอากาศยานและที่เก็บอากาศยาน, เว้นค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมปี 53 ตลอดจนกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2. การสร้างความเชื่อมั่น และการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ และการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย ผ่านการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศใน 3 แนวทาง คือ การใช้มาตรการตอบโต้และชี้แจงข้อเท็จจริงแก่สื่อมวลชนและสาธารณชนต่างประเทศ, การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์และเทิดทูนพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ และในกลุ่มเป้าหมายต่างประเทศ, โครงการความร่วมมือด้านวิชาการ

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีในชาติ, การพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, การสร้างความเป็นธรรมและพัฒนาระบบงานยุติธรรมให้สอดคล้องกับศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

3. การวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ, การเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านกรอบการลงทุน 1.43 ล้านล้านบาท ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเป็นการลงทุนในช่วงปี 52-55, การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อดำเนินการให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานและสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน

การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ด้วยการนำเสนอร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเร่งรัดการพัฒนาความเข้มแข็งและศักยภาพการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในระยะยาว และการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ในนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ศักยภาพและการพัฒนาต่อยอดของอุตสาหกรรมและบริการสร้างสรรค์ไทยที่มีการดำเนินการอยู่บ้างแล้วให้เป้นไปอย่างมีทิศทางและจริงจังมากขึ้น ตลอดจนการกำหนดแผนงานการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ปี 52-55 ด้วย

4. การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือ การแก้ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยมีแนวทางดำเนินการร่วมกันในทุกระดับทั้งระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลกเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ป้องกันแก้ไขและเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และแผนแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ ฉบับที่ 2

ขณะเดียวกันยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกัน ควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข อบรมเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.เร่งให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งจัดทำคู่มือประชาชน"รู้เท่าทันเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009" โดยเผยแพร่ให้แก่นักเรียนและประชนทั่วไป

5.การดำเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชนและองค์กรภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเครือข่ายสมัชชาคนจน, การแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และการแก้ไขปัญหาเครือข่ายเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังเตรียมแจกจ่ายหนังสือ "เรื่องเล่าริมรั้ว" ความสุขของคนไทย คือเป้าหมายของรัฐบาลอีกจำนวน 2 แสนฉบับ สำหรับแจกจ่ายประชาชนทั่วไป โดยมีเนื้อหาที่ง่ายต่อการเข้าใจ ซึ่งเป็นการการเปิดใจนายกรัฐมนตรีถึงวันแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ ความแตกต่างหลังจากบริหารงานครบ 6 เดือน ความคาดหวัง และแผนงานสำหรับอนาคต

โดยในหน้าสุดท้ายของหนังสือได้จัดทำเป็นไปรษณีย์บัตร เพื่อให้ประชาชนได้ส่งคำแนะนำหรือข้อร้องเรียนต่างๆ เข้ามาถึงนายกรัฐมนตรีได้โดยตรงอีกด้วยโดยผ่านทางตู้ปณ.1111 ทำเนียบรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ