นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(1-8 ส.ค.) มียอดผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 รวมทั้งสิ้น 16 คน โดยในจำนวนนี้ 11 คน เป็นผู้มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 97 คน แต่คาดแนวโน้มอัตราเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตจะชะลอตัวลงภายใน 3-4 สัปดาห์จากนี้
ทั้งนี้ พบว่าค่าเฉลี่ยวันที่เริ่มป่วยจนถึงได้รับยาต้านไวรัสสั้นลงจาก 7 วัน เหลือ 5-6 วัน โดยผู้เสียชีวิต 50% เริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านไวรัสไปสู่คลินิกเอกชน
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดเพื่อลดการเสียชีวิต ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก คือ มาตรการกระจายยาต้านไวรัส, การกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะไปพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน, การส่งเสริมให้แพทย์ยึดแนวทางการรักษาตามคู่มือที่คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำหนด และจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง
"จากมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า" นพ.ไพจิตร์ กล่าว
นพ.ไพจิตรฺ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการระบาดมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเขตกทม. และปริมณฑล ส่วนในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยกลุ่มอายุ 6-20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนแนวโน้มติดเชื้อชะลอตัวลง บ่งชี้ว่ามาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วยในโรงเรียนหลายแห่งเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และต้องเร่งดำเนินการต่อไป ขณะที่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มรับจ้างทั่วไปยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องขยายการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะการให้ผู้ที่ป่วยหยุดพักอยู่กับบ้านอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ยังเริ่มมีสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น โดยกลุ่มประชาชนทั่วไปเริ่มมีพฤติกรรมในการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการให้หยุดพักงานอยู่กับบ้าน 7 วัน หลายหน่วยงานจัดระบบติดตามให้มีการพักอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดระบบควบคุมป้องกันโรค ส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคให้กับบุคลากรของหน่วยงาน
ส่วนในระดับชุมชนเริ่มมีโครงการความร่วมมือของภาคประชาชนในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างได้ผล
สำหรับมาตรการกระจายยาต้านไวรัสลงสู่คลินิกเอกชน สัปดาห์นี้มีคลินิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มจาก 10% เป็น 15% ทั้งนี้คลินิกบางส่วนได้แสดงความจำนงเป็นเครือข่ายในการคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป