เมื่อเดือนที่แล้ว ห้องไอซียูของโรงพยาบาลที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ต้องรับผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นจำนวนมากจนทำให้การผ่าตัดผู้ป่วยด้วยโรคอื่นต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากโรงพยาบาลไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ห้องไอซียูเต็มจนไม่มีห้องผ่าตัดให้บริการกับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคอื่นๆได้
จอฟ ชอว์ เจ้าหน้าที่ของห้องไอซียูที่โรงพยาบาลในเมืองไครสต์เชิร์ช กล่าวว่า ตอนนี้โรงพยาบาลไม่มีเตียงว่างเหลือ และก็ขาดแคลนนางพยาบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาและอาจจะทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเมื่อมีการแพร่กระจายของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็แตกต่างจากจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มีสัดส่วนไม่มากนัก ซึ่งสถิติเหล่านี้ช่วยเตือนภัยและบ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะทำให้ห้องไอซียูเต็มและจำนวนเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็อาจจะทำให้เกิดหายนะทางด้านสาธารณสุขก็เป็นได้
บลูมเบิร์กรายงานว่า ไซมอน ทาวเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลโรยัล เพิร์ท และหัวหน้าฝ่ายเจ้าหน้าที่การแพทย์ของรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราโชคดีมาก แต่หากเราต้องเผชิญกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงเราจะต้องเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ เพราะระบบที่มีอยู่ยังไม่สามารถรับมือกับจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากได้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เตียงในแผนกไอซียูผู้ใหญ่จำนวน 105 เตียงในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลียถึง 1 ใน 4 นั้นถูกจับจองไปด้วยผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อการหายใจ ซึ่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์รับเป็นนัยสำหรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่นในช่วงที่ฤดูหนาวได้มาเยือน
จอห์น เบกา หัวหน้าแผนกไอซียูของโรงพยาบาลเด็กนิวซีแลนด์ กล่าวว่า เราไม่เคยพบกับสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ได้มีการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ไปแล้วจำนวน 5 เครื่องจากทั้งหมด 6 เครื่องในช่วงฤดูหนาว และเราก็ได้สั่งเครื่องมาเพิ่มอีก 3 เครื่องแล้ว
บริษัท Maquet Cardiopulmonary AG ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Getinge AB ของสวีเดนได้รับคำสั่งซื้อระบบช่วยชีวิตผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 50% จากออสเตรเลีย ขณะที่บริษัทของเยอรมนีก็สั่งเพิ่มการผลิตถึง 2 เท่า และวางแผนเพิ่มสำรองท่อ ปอดเทียม และอุปกรณ์ ECMO แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอีกประมาณ 500 ชุด จากยอดการผลิตเดิมที่ 100 ชุด