นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทยอาจไม่ราบรื่น เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลว่าหัวเชื้อไวรัสชนิด"เชื้อเป็น"ที่นำเข้าจากประเทศรัสเซียกลายพันธุ์
"ขณะนี้หัวเชื้อไวรัสที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่นำมาจากรัสเซียและอยู่ในระหว่างการทดลองนั้น จากการถอดรหัสพันธุกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลพบมีการผ่าเหล่า เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมใน 8 ตำแหน่ง จึงถือว่าเป็นหัวเชื้อที่ไม่มีความเสถียร และเมื่อฉีดพ่นเข้ารูจมูกถูกความร้อนเชื้อก็จะตายทันที เสี่ยงกับการกลายพันธุ์" นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ช่วงบ่ายวันนี้ ผู้เกี่ยวข้องจะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมดังกล่าว หากเกิดขึ้นในจุดที่อ่อนแรงอาจทำให้ไวรัสมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และในการผลิตวัคซีนอาจไม่คงที่และปลอดภัย
"ต้องหารือว่าจะเดินหน้าผลิตวัคซีนต่อไปหรือไม่ หรือต้องแก้ไขอย่างไร เบื้องต้นจะได้มีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เตรียมสำรองหัวเชื้อไวรัสชนิดเชื้อเป็นจากประเทศจีนไว้แล้ว แต่ต้องรอข้อสรุปอย่างเป็นทางการของ อย.อีกครั้ง" นพ.ระวัฒนื กล่าว
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตวัคซีนของไทยยังพบปัญหาและอุปสรรคเรื่องไข่ไก่ที่เพาะเชื้อไม่ได้ปริมาณมากเพียงพอ และยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะเลือกโรงงานใดในการต่อยอดทดลองวัคซีน แม้ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ประเมินโรงงานผลิตวัคซีนในสัตว์ของกรมปศุสัตว์ที่จังหวัดนครราชสีมาจะมีประสิทธิภาพดีสามารถเปลี่ยนแปลงนำมาเป็นโรงงานผลิตวัคซีนในคนได้ทันที เพียงใช้ระยะเวลา 3 เดือน และงบประมาณเพียง 80 ล้านบาท แต่ยังมีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่สมัยการระบาดของโรคไข้หวัดนก ทำให้ไม่อาจประสานหรือยอมร่วมมือกันได้อย่างต่อเนื่อง
"อยากให้ยุติเรื่องปัญหาความขัดแย้งและสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อให้ไทยมีความมั่นคงด้านระบบสาธารณสุข และยังจะส่งผลให้การผลิตวัคซีนสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น ดีกว่ารอโรงงานใหม่ที่ยังไม่เห็นรูปร่างภายใน 2 ปีนี้" นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
สำหรับการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นหากจะให้เพียงพอกับจำนวนประชากรในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการระบาดได้จะต้องเตรียมไว้สำหรับประชากรประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตวัคซีนถึง 17 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก
"หากต้องรอหาโรงงานที่เหมาะสมทั้งกระบวนการก่อสร้างใหม่ และปัญหาอุปสรรคจากสิ่งที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาอีก 74 เดือนจึงจะสามารถผลิตเสร็จ แต่หากมีการปรับโรงงานใหม่ โดยใช้โรงงานจากกรมปศุสัตว์ก็จะลดระยะเวลาในการผลิตวัคซีนได้มากขึ้น" นพ.ระวัฒน์ กล่าว