กรุงเทพโพลล์ เผยคนกรุงเป็นห่วงม็อบเสื้อแดง แต่เชื่อรัฐคุมสถานการณ์ได้

ข่าวทั่วไป Friday August 28, 2009 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขต กรุงเทพฯ จำนวน 1,027 คน เมื่อวันที่ 26-27 ส.ค. 52 เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ความมั่นคง กับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรในพื้นที่เขตดุสิตระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย.52 ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 ส.ค. 52

โดยพบสำรวจความรู้สึกต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน พบว่า 48.4% มีความเป็นห่วงมาก รองลงมา มีความเป็นห่วงค่อนข้างมาก มีเพียง 4% ที่มองสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วงเลย

และเมื่อเปรียบเทียบผลดีและผลเสียจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในพื้นที่เขตดุสิต ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ส่วนใหญ่ 40.5% ไม่แน่ใจ แต่ ความเห็น 37.8% เชื่อว่าจะส่งผลเสียมากกว่า และ 21.7% เชื่อว่าจะส่งผลดีมากกว่า

ส่วนเรื่องที่ประชาชนเป็นห่วงมากที่สุดจากการนัดชุมนุมของกลุ่ม นปช. และการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในครั้งนี้ คือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย การฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์โดยผู้ไม่หวังดี การจราจรติดขัด การใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม และอื่นๆ เช่น การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน

ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อความสามารถของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสถานการณ์ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่ให้ยืดเยื้อบานปลาย ส่วนใหญ่ 35.8% เชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้ แต่อีก 31.7% ไม่เชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้ และ ไม่แน่ใจ 32.5%

สิ่งที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรี ทำมากที่สุดในขณะนี้ คือ เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ยุบสภา แก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาล แก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น แก้เกม พ.ต.ท. ทักษิณ และกลุ่ม นปช. ปรับคณะรัฐมนตรี และ อื่นๆ เช่นสร้างความสามัคคีของคนในชาติ แก้ปัญหาภาคใต้ แก้ปัญหาเยาวชน

สำหรับความเชื่อมั่นเกี่ยวกับระยะเวลาในการอยู่บริหารประเทศของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ส่วนใหญ่ 58.2% เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ได้เกิน 1 ปี (แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือน มิ.ย.52 พบว่าความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะอยู่ได้เกิน 1 ปีลดลง 6.3%) ส่วน 48.8% เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบ 1 ปี เนื่องจาก ผลงานไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และ อื่นๆ เช่น นายกฯ ไม่เด็ดขาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ