ผลการศึกษาชี้แนวปะการังชื่อดังของออสเตรเลียอาจได้รับความเสียหายหากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 2, 2009 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลการศึกษาชี้แนวปะการังชื่อดังของออสเตรเลียอาจจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก หากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สำนักงานอุทยานทางทะเลเกรท แบริเออร์ รีฟ ของออสเตรเลียได้เร่งปรับปรุงคุณภาพของน้ำ รวมทั้งวิจัยเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประมง เพื่อที่จะรักษาแนวปะการังความยาว 2,000 กิโลเมตรที่ติดหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่มีความหลากหลายมากที่สุดระบบหนึ่งของโลกให้รอดพ้นจากภัยโลกร้อน

สำนักงานอุทยานฯระบุว่า หากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากเกินไป คงจะไม่มีการดำเนินการใดๆที่จะช่วยให้แนวปะการังที่ครอบคลุมพื้นที่ 348,000 ตารางกิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียรอดพ้นจากความเสียหายไปได้

แนวปะการังแห่งนี้ทำรายได้ให้กับธุรกิจการท่องเที่ยว ประมง และธุรกิจอื่นๆของออสเตรเลียประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังช่วยสร้างงานอีกกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า แนวปะการังตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุ และพายุไซโคลนที่มีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งอุณหภูมิน้ำก็สูงขึ้น ทำให้มหาสมุทรมีสภาพที่เป็นกรดมากกว่าเดิม

รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมแก้ปัญหาด้วยการวางแผนตัดเส้นทางน้ำเสียจากพื้นดินในภาคการเกษตรไม่ให้ไหลลงมาถึงแนวปะการังได้ ทางด้านปีเตอร์ การ์เร็ต รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม และแอนนา ไบลก์ นายกเทศมนตรีรัฐควีนส์แลนด์ ได้นำแผนปกป้องน้ำมาใช้ เพื่อลดปริมาณการปล่อยน้ำเสียซึ่งมีสารก่อมลพิษปะปนอยู่ เช่น ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยลงสู่แนวปะการังภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

ไบลก์ กล่าวว่า คุณภาพน้ำที่ไหลลงแนวปะการังที่ดีขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่เราจะสามารถช่วยเหลือแนวปะการังให้รับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนได้

เมื่อปี 2550 มีการประเมินว่า สารตกตะกอน 6.6 ล้านเมตริคตัน ไนโตรเจน 16,600 ตัน ฟอสฟอรัส 4,180 ตัน ไหล่ลงสู่น่านน้ำในแนวปะการัง ซึ่งถือเป็นความเข้มข้นในระดับที่สูงพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมได้ รัฐบาลออสเตรเลียตั้งเป้าที่จะสร้างหลักประกันว่า ธุรกิจการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกอ้อย ฝ้าย หรือฟาร์มโคนม จะต้องมีการปรับปรุงดิน และสารเคมีให้ได้ 80% ภายในปี 2556 บลูมเบิร์กรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ