บอร์ดสภาพัฒน์เสนอผลศึกษาโครงการรถเมล์ NGV จำนวน 4 พันคันให้ ครม.ชี้ขาด

ข่าวทั่วไป Tuesday September 29, 2009 09:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เตรียมเสนอรายละเอียดผลการศึกษาโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 4,000 คันให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาตัดสินใจ โดยเสนอทางเลือก 3 แนวทาง คือ การซื้อ, การเช่า และแนวทางอื่นที่เหมาะสม ซึ่งการเช่าจะดีกว่าการซื้อเพราะลดปัญหาเรื่องการจัดเตรียมความพร้อมของรถและลดความเสี่ยงด้านต้นทุนทางการเงินและภาระดอกเบี้ย แต่หาก ครม.ไม่เลือกทั้งการเช่าและการซื้อก็อาจใช้วิธีการอื่น เช่น การให้สัมทานการเดินรถแก่เอกชนที่มีความเสี่ยงต่ำสุด

นอกจากนี้ ยังมีวาระการประชุมอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เสนอแผนขยายเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ เป็นช่วงหมอชิต-คูคต ซึ่งจะขยายระยะทางเพิ่มจากเดิมอีก 6.7 กม. และก่อสร้างสถานีอีก 2 สถานี

กระทรวงคมนาคมขออนุมัติงบประมาณสำหรับการดำเนินการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคนเพิ่มเติม ในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จาก 1,318.74 ล้านบาท เป็น 1,361.99 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 43.250 ล้านบาท เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายของ ขสมก.ที่เกิดขึ้นจริงในการดำเนินการโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือน ส.ค.51-ม.ค.52

กระทรวงการคลังเตรียมเสนอขออนุมัติรายละเอียดโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยใช้เงินกู้จำนวน 1 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเหลือจากการชดเชยเงินคงคลัง โดยในปีนี้จะมีเม็ดเงินลงทุนตามโครงการดังกล่าวรวม 3 แสนล้านบาท และตั้งเป้าเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ 80% หรือคิดเป็น 2.7% ของจีดีพี

กระทรวงพาณิชย์เสนอให้อนุมัติแผนงานโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก รวม 4 โครงการ ได้แก่ 1.การเร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณขนส่งสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น และรองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East West Economic Coridor 2.เร่งรัดโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออกเบ็ดเสร็จ One Stop Service และศูนย์โลจิสติกส์และคลังสินค้า Logistics Park ในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-พม่า 3.ให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนฯ เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจกรค้า และ 4.การพัฒนา New Trade Lane เส้นทางคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงทางการค้า ตาก- แม่สอด-เมียวดี-กอกาเร็ก-มะละแหม่ง รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางแม่สอด-ท่าสองยาง-แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

กระทรวงกลาโหมเสนอขออนุมัติให้กองทัพบก(ทบ.) ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการจัดการอากาศยานฝึก ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี(52-55) วงเงิน 1,197.99 ล้านบาท แยกเป็น ปีงบประมาณ 52 จำนวน 320 ล้านบาท, ปี 53 จำนวน 320 ล้านบาท, ปี 54 จำนวน 480 ล้านบาท และปี 55 จำนวน 77.993 ล้านบาท เพื่อจัดหาเฮลิคอปเตอร์ฝึกสำหรับใช้ในโรงเรียนการบินทหารบก เพื่อเพิ่มพูนความสามารถให้แก่นักบินให้มีความสามารถตามมาตรฐานทางทหารและสถาบันการบินพลเรือน และสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้งานในภารกิจทางทหาร สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ใน ทบ.ได้ ทั้งนี้ ทบ.ได้จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Enstrom แบบ 480 B จากบริษัท Enstrom Helicopter Corporation ประเทศสหรัฐ ด้วยวิธีจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ จำนวน 16 ลำ แบบเหมารวม ซึ่งผ่านการเจรจาต่อรองถึงที่สุดแล้ว จากเดิมวงเงิน 1,600 ล้านบาท

คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย(คปร.) เสนอให้อนุมัติใช้อัตราข้าราชการตำรวจที่ว่างจากผลการเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 51 ในส่วนที่ต้องยุบเลิก 50%(จำนวน 810 อัตรา) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.49 ที่กำหนดให้ยุบเลิกอัตรา 50% และจัดสรรคืนให้ 50% โดยเน้นในภารกิจที่กำหนดเป็นไปตามเงื่อนไขและในภารกิจที่มีเหตุผลความจำเป็น มาจัดสรรคืนให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้ทั้งหมด

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอให้ ครม.พิจารณาเรื่องการจัดสรรเงินรางวัลสำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอดมศึกษาที่มีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 52 อีกครั้ง หลังจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ส.ค.52 ให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ.ร. รับเรื่องไปทบทวนในประเด็นเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ 52 ของส่วนราชการ โดยขอให้ ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ก.พ.ร.เมื่อวันที่ 31 ส.ค.52 ซึ่งใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ 52 ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา นอกเหนือจาก 50% ของเงินงบประมาณเหลือจ่ายแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบให้ใช้เพื่อการพัฒนาองค์การและการพัฒนาบุคลากรไปแล้ว โดยให้กันเงินงบประมาณปี 52 ของส่วนราชการฯ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 53 ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง และที่แก้ไขเพิ่มเติม

และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอให้ ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ และ ร่าง พ.ร.บ.เทศบาล ที่ตรวจพิจารณาเสร็จแล้วเพื่อนำเสนอต่อสภาฯ ให้พิจารณาไปพร้อมกันกับร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีหลักการเดียวกัน โดยสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เฉพาะท้องที่ใดที่มีการยกฐานะเทศบาลนครตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล ไม่ให้มีการแต่งตั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องที่นั้น และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ พ้นจากตำแหน่งภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศยกฐานะท้องที่นั้นเป็นเทศบาลนครมีผลใช้บังคับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ