นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา มีท่าทีแข็งกร้าวในการสั่งให้ทหารกัมพูชาสามารถยิงปะทะทหารไทยได้หากฝ่ายไทยล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ข่าวในลักษณะเช่นนี้ เพราะอาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย แต่จะขอกลับไปตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนใน 1-2 วันนี้ และเห็นว่าคงยังไม่ถึงขั้นยกหูโทรศัพท์ไปสอบถามจากสมเด็จฮุนเซนโดยตรง แม้ส่วนตัวจะมีความสัมพันธ์ต่อกันเป็นอย่างดี
"หากไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนแล้วไปพูดคุยกับกัมพูชา อาจทำให้ไทยเสียรังวัดได้ ขอใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้ใน 1-2 วัน"รองนายกรัฐมนตรี กล่าว แต่ก็พร้อมที่จะเดินทางไปหารือกับสมเด็จฮุนเซน หากมีคำสั่งจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายสุเทพ ยืนยันว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ตึงเครียด แต่ยอมรับว่าหากกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากปะทะก่อน ฝ่ายไทยก็จำเป็นต้องตอบโต้ แต่ในระดับนโยบายแล้วรัฐบาลไม่ต้องการเห็นการปะทะหรือใช้อาวุธตอบโต้กันตามแนวชายแดน
ขณะที่ พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวในกรณีสมเด็จฮุน เซน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศโดยระบุว่าจะให้กำลังพลยิงผู้บุกรุกดินแดนได้ทันทีว่า ทราบท่าทีของกัมพูชาแล้ว และหากกัมพูชาติดอาวุธข้ามดินแดนเข้ามาไทยก็พร้อมตอบโต้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่ความตึงเครียด แม้แนวทางที่ปฏิบัติอยู่จะพยายามเจรจาด้วยแนวทางสันติวิธีก็ตาม เพียงแต่เงื่อนไขการปฏิบัติที่แตกต่างกันของ 2 ประเทศ เป็นสาเหตุให้เกิดความตึงเครียด โดยเฉพาะการตัดสินใจในระดับนโยบาย
นายสุเทพ ยังไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่สนิทสนมกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา มากดดันให้กัมพูชาสร้างกระแสข่าวเพื่อมองว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองในประเทศได้
"เท่าที่ผมรู้จักและได้สัมผัสนายกฯ กัมพูชา ผมคิดว่าท่านเป็นนักการเมืองอาชีพ ท่านแยกแยะได้ อะไรคือเรื่องส่วนตัว อะไรคือเรื่องบ้านเมือง ผมไม่เชื่อว่าท่านนายกฯ กัมพูชาจะทำเรื่องนี้เพื่อเอาใจใคร หรือให้สอดคล้องกับความต้องการของใคร"นายสุเทพ ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้พิจารณาอนุมัติโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จำนวน 16 ลำ มูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาทว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีไม่ถือเป็นการทิ้งทวนหรือการเอาใจกองทัพ แต่เนื่องจากสัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์สุดท้ายของปีงบประมาณ 52 ซึ่งหากโครงการใดที่ค้างยังไม่ได้รับการอนุมัติก็จะต้องดำเนินการภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้มองเรื่องนี้ในแง่ร้ายเกินไป และเชื่อว่ากองทัพมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณเพื่อการดังกล่าว