แพทย์อินโดนีเซียอ่วมรักษาเหยื่อแผ่นดินไหว ขณะยอดผู้เสียชีวิตพุ่งแตะ 1,100 ราย

ข่าวต่างประเทศ Friday October 2, 2009 10:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะแพทย์อินโดนีเซียที่ทำการรักษาผู้ประสบภัยหลายร้อยชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวบนเกาะสุมาตรา กำลังเผชิญปัญหาในการรับมือกับผู้บาดเจ็บ เนื่องจากด้านพื้นที่รองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนยารักษาโรค และไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ขณะที่ภัยพิบัติดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 1,100 ราย

จอห์น โฮล์มส์ หัวหน้าหน่วยงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 1,100 รายจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่เมื่อวานนี้ สำนักงานป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซียรายงานยอดผู้เสียชีวิตที่ 230 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย

"หลายฝ่ายกังวลว่าจะยังมีผู้เคราะห์ร้ายอีกหลายพันคนติดอยู่ใต้ซากบ้านที่พังลงมา" โฮล์มส์กล่าวซึ่งรายงานข่าวระบุว่ามีบ้านเรือน 500 หลังคาเรือนพังถล่มและมีประชาชนร่วมร้อยคนติดอยู่ใต้ซากโรงแรม 2 แห่งที่เมืองปาดัง

บลูมเบิร์กรายงานว่า นายแพทย์ท่านหนึ่งในโรงพยาบาล Siti Rahma Islamic ที่เมืองปาดังทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่เมื่อวานนี้เพื่อรักษาคนไข้ 100 รายที่ล้นทะลักออกมาห้องโถงของโรงพยาบาล ขณะที่จำนวนแพทย์และพยาบาลยังคงไม่เพียงพอ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้แต่หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์มากขึ้น

อย่างไรก็ดี เอียน เคลลี่ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเผยว่า รัฐบาลสหรัฐได้จัดสรรเงินช่วยเหลือ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่อินโดนีเซีย พร้อมประเมินถึงความจำเป็นในการส่งเงินสมทบให้อีก 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมส่งทีมช่วยเหลือด้านภัยพิบัติไปช่วยปฏิบัติภารกิจช่วยผู้ประสบภัย ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียได้จัดส่งแพทย์ 92 นายและยา 5 ตันไปยังเมืองปาดังแล้ว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียประสบเหตุแผ่นดินไหว 2 ครั้งติดต่อกัน โดยครั้งแรกเริ่มจากแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์ ที่เมืองปาดังบนเกาะสุมาตราเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามด้วยแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์เมื่อวานนี้



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ