ส.ต่อต้านภาวะโลกร้อน เสนอทางออกตั้งกองทุนแสนล้านเยียวยาชาวบ้านมาบตาพุด

ข่าวทั่วไป Tuesday October 13, 2009 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ในฐานะตัวแทนของสมาคมฯ และ ชาวบ้านมาบตาพุด ผู้ฟ้องคดีรวม 43 ราย โดยเสนอทางออกร่วมกันของปัญหาให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)จัดตั้งกองทุนเยียวยาพัฒนาสุขภาพประชาชน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง 1 แสนล้านบาท เทียบเท่ากองทุนเยียวยาอุตสาหกรรมเพื่อความสมดุล

พร้อมทั้งเสนอให้ ครม.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ยกร่างโดยภาคประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำร่างประเภทโครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ได้รับการยกร่างจากคณะกรรมการยกร่างที่แต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศมาแล้วจำนวน 19 ประเภทโครงการ มาประกาศบังคับใช้

สมาคมฯ ยังขอให้ ครม.นำร่างหลักเกณฑ์การศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว มาประกาศบังคับใช้โดยเร็ว รวมทั้ง ให้ผู้ประกอบการ 76 โครงการและตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ฝ่ายมาร่วมกันพิจารณาว่าโครงการกว่า 500 แห่งทั่วประเทศมีโครงการใดเข้าข่าย เพื่อมาดำเนินการจัดทำ HIA และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนการอนุมัติหรืออนุญาตก่อนโดยเร็ว

ขณะที่สภาทนายความออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายน้อมรับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้ระงับโครงการลงทุนทั้ง 76 โคงการในพื้นที่มาบตาพุดไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม พร้อมติงทุกฝ่ายอย่าสร้างกระแสด้วยการยกผลกระทบต่อเศรษฐกิจขึ้นมากล่าวอ้าง เพราะจะสร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลในคดีนี้

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ระบุว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 รายได้นำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองกลางในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบกพร่อง การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการในการบริหารกฎหมายและการดูแลให้การบังคับการให้เป็นไปตามสภาพอย่างแท้จริงสำหรับการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ถูกปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ดิน น้ำ และการปล่อยสารมีพิษต่าง ๆ ในรูปของขยะและควันพิษมีเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว

ก่อนหน้านี้ศาลปกครองจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาให้ประกาศพื้นที่อ.มาบตาพุด-บ้านฉาง และใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 59 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน และรัฐบาลก็ได้ดำเนินการไปแล้ว

สภาทนายความ เห็นว่าการกล่าวอ้างว่าผลกระทบจากการระงับโครงการลงทุนทั้ง 76 โครงการจะทำให้มีการถอนการลงทุนย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ลดลง หรือทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศลดลงประมาณ 1.7% รวมทั้งจะมีการลดการจ้างงานลงจากที่ประมาณการไว้ 100,000 คนนั้น คงเป็นแต่เพียงการสร้างกระแส มุ่งโต้แย้งในให้ความเห็นต่างๆ เพื่อสร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลในคดี

ทั้งนี้ เพราะเป็นการวิพากษ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดความไม่มั่นใจกับผู้ประกอบการลงทุนและอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดระยองโดยรวม จึงเห็นว่าข้อผูกพันของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ล้วนแต่ให้ความรับรองและหลักประกันเรื่องสุขภาพการกินดีอยู่ดีของคนในสังคมทั่วโลก การพยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนโดยฝ่าฝืนมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

หากจะยกเป็นประเด็นขึ้นกล่าวอ้างก็ขอให้อ้างมาในสำนวนในคดีของผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ควรนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ภาคอุตสาหกรรมหรือสร้างความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเข้าใจผิด

"อยากให้หยุดพูดหรือให้ความเห็นที่ออกมาบอกว่า เงินลงทุนเป็นแสนล้าน จ้างงานนับหมื่นคนต้องหยุดนั้น ควรต้องชี้แจงด้วยว่าโครงการส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเป็นเวลา 8 - 13 ปี ซึ่งควรจะนำสิทธิประโยชน์ที่ได้ไปสร้างความสมดุลให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่ไปสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนที่ต้องทนทุกข์ทรมานที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วม" นายกสภาทนายความ กล่าว

นายเดชอุดม เห็นว่า สาเหตุที่หลายประเทศไปลงทุนในประเทศใกล้เคียง ไม่ได้เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย แต่ว่าสภาพการเมืองที่มั่นคง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งและการจ้างแรงงานที่ถูกกว่า เป็นจุดผลักดันสำคัญในการลงทุนในแต่ละประเทศมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ