สวนดุสิตโพล เผยคนกรุงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่พนักงานรถไฟหยุดเดินรถประท้วงฝ่ายบริหาร เพราะทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อย และมองว่าน่าจะใช้วิธีอื่นในการแก้ไขปัญหามากกว่า โดยเสนอแนะให้สองฝ่ายหาทางออกในการเจรจากันเพื่อยุติความขัดแย้งโดยเร็ว
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล 1,064 คน ระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค.52 ต่อกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)หยุดเดินรถไฟสายใต้ รถไฟโดยสารสายท้องถิ่นโดยอ้างว่าหัวรถจักรไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานต้องนำไปตรวจซ่อมก่อนเพื่อความปลอดภัยนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 73. 03% ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าควรใช้วิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหา เช่น ส่งตัวแทนสหภาพมาเจรจากับผู้บริหารหรือยื่นหนังสือโดยมีการรวบรวมรายชื่อและยื่นหนังสือต่อผู้บริหาร
รองลงมา 14.61% บอกว่าไม่แน่ใจ เพราะไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนมากพอ และมองว่าทางสหภาพฯ อาจห่วงใยความปลอดภัยของผู้โดยสารจริงๆ ส่วนอีก 12.36% เห็นด้วย เพราะเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้บริหารลงมาดูแลหรือรับฟังข้อเสนออย่างจริงจัง
นอกจากนั้น จากข้ออ้างที่ว่าจะไม่มีการนำหัวรถจักรออกวิ่งทำขบวนอย่างเด็ดขาดหากไม่ได้รับการซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ 50.54% คิดว่าเป็นเหตุผลที่ไม่เหมาะสมถึงขั้นหยุดเดินรถไฟ เพราะควรแจ้งให้ผู้โดยสารรับทราบก่อนล่วงหน้า เนื่องจากสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้โดยสารจำนวนมาก บางคนต้องรีบไปธุระ ทำให้เกิดความล่าช้า และไม่ปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารที่ต้องเดินทางในยามค่ำคืน
ขณะที่ 32.97% เห็นว่าเป็นเหตุผลที่เหมาะสม เพราะหากรถไฟอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ก็ควรซ่อมแซมให้ดีก่อนนำออกมาให้บริการ ถ้าชำรุดจริงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสารได้ ดูจากสภาพภายนอกของรถไฟค่อนข้างทรุดโทรมจริงๆ และ 16.49% ไม่แน่ใจ เพราะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง หากมีปัญหาจริงเพราะเหตุใดจึงออกมาประกาศในตอนนี้
จากเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 41.87% ไม่แน่ใจว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง และอาจเป็นปัญหาภายในของคนใน รฟท.ด้วยกันเอง รองลงมา 32.72% เชื่อว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ การดำเนินงานต่าง ๆ ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล ฯลฯ
และ 25.41% เชื่อว่าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสาเหตุน่าจะมาจากเรื่องของรถไฟตกราง เป็นการเรียกร้องถึงความยุติธรรมและเป็นปัญหาภายในของ รฟท.มากกว่า
สำหรับแนวทางการแก้ไข คือ ส่วนใหญ่เห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายควรส่งตัวแทนมาเจรจากัน และเปิดให้บริการเดินรถไฟแก่ประชาชนทุกเส้นทางตามปกติ รองลงมาเห็นว่าผู้ว่าการ รฟท.ควรออกมาชี้แจงถึงประเด็นข้อสงสัยต่างๆต่อสาธารณชน ควรปรับปรุงการบริหารงานของ รฟท.ครั้งใหม่อย่างจริงจัง รัฐบาลควรเร่งดำเนินการหรือส่งตัวแทนเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยเร็วที่สุด และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแล