สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียนที่ดีได้อย่างไร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ราว 70% ค่อนข้างเชื่อมั่นและเชื่อมั่นมากต่อการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการจัดประชุมครั้งนี้ ขณะที่อีกราว 30% ไม่ค่อยเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นเลย
โดยประชาชน 39.34% ที่ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะมีบทเรียนจากครั้งที่แล้ว น่าจะป้องกันได้ดีขึ้น และเป็นงานสำคัญระดับชาติที่จะต้องดูแลอย่างเข้มงวด และอีก 31.14% ที่ระบุว่าเชื่อมั่นมาก เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย และมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดี ส่วน 18.03% ไม่ค่อยเชื่อมั่นเพราะมีกระแสข่าวว่าจะมีการชุมนุมในวันนั้น และอีก 11.49% ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้คาดเดายาก
ทั้งนี้จากคำกล่าวที่ว่าประเทศไทยเป็น "สยามเมืองยิ้ม" คิดว่าสิ่งนี้จะช่วยประเทศไทยในฐานะเป็นเจ้าภาพได้หรือไม่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 57.14% คิดว่าช่วยได้ เพราะพื้นฐานนิสัยคนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้มีจิตใจดี อัธยาศัยดี รอยยิ้มของคนไทยจะทำให้ต่างชาติประทับใจ ส่วน 25.40% ระบุว่า ไม่แน่ใจ เพราะนอกจากรอยยิ้มแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยก็สำคัญเช่นกัน และอีก 17.46% ระบุว่า ช่วยไม่ได้ เพราะหากคนไทยทุกคนไม่ร่วมแรงร่วมใจหรืออยู่เฉยๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้บรรยากาศการจัดประชุมครั้งนี้เป็นไปด้วยดีได้
สำหรับสิ่งที่ประชาชนคิดว่าประเทศไทยจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ อันดับแรก คือ สร้างความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยให้กับชาวต่างชาติ อันดับสอง คือ แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศน่าจะดีขึ้น พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และอันดับสาม เป็นการกระชับสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สิ่งที่ประชาชนกังวลในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียนมากที่สุดอันดับแรก คือ การชุมนุมต่างๆ รองลงมาคือ การสร้างความเข้าใจ การชี้แจงให้เข้าใจถึงประเทศไทย ความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพ และอันดับสาม คือ การอำนวยความสะดวกในเรื่องของที่พัก อาหาร ความสะดวกต่างๆ
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากจะฝากบอก "กลุ่มเสื้อแดง" หากจะมีการประท้วงในช่วงนี้ อันดับแรก คือ อยากให้ยุติการชุมนุมหรือหยุดเคลื่อนไหวชั่วคราว โดยรอให้การประชุมผ่านพ้นไปก่อน รองลงมา คือ อยากให้นึกถึงภาพพจน์ ชื่อเสียงของประเทศชาติเป็นสำคัญ และอันดับสาม การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างมาก
ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปจำนวนทั้งสิ้น 1,288 คน ระหว่างวันที่ 19-21 ต.ค.ที่ผ่านมา