กมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิฯ เผยพื้นที่มาบตาพุดมีมลพิษสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า

ข่าวทั่วไป Monday October 26, 2009 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ และองค์กรเฝ้าระวังมลพิษ Global Community Monitor ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยผลตรวจสอบค่ามลพิษในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมเอเซียสูงเกินกว่ามาตรฐาน 30 เท่า

"ผลการตรวจสอบขององค์กรเอกชนและส่วนราชการยังต่างกันมาก ขณะที่ส่วนราชการพยายามออกข่าวว่าค่าที่ตรวจพบต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ค่าที่องค์กรเอกชนตรวจพบกลับพบค่าสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า ซึ่งกรรมาธิการฯ จะนัดประชุมและพิจารณาเสนอทางแก้ไขต่อไป" นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าว

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันยื่นฟ้อง 8 หน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองในเรื่องดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการก่อสร้าง 76 โครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไว้ก่อน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 คณะจะนัดพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องสารพิษ เพราะตัวเลขมีนัยสำคัญมาก ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษต้องทบทวนค่ามาตรฐานสารพิษใหม่ เพราะรายงานการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ค่ามาตรฐานของไทยอ่อนมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมมลพิษที่ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบพบว่า มีการปล่อยในอัตราที่สูงกว่าค่ามาตรฐานมากเป็น 20-30 เท่า

ขณะที่นางเพชรโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า หลังจากเข้าไปตรวจสอบมลพิษในอากาศบริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมาพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศมีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานการเฝ้าระวังของกรมคุมมลพิษหลายเท่า เช่น สาร 1,3 บิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง มีค่าสูง 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บริเวณทิศใต้ลมระหว่างที่ตั้งของบริษัท ไบเออร์และโรงงานกลั่นน้ำมันเออาร์ซีโรงใต้ และมีโรงงานเคมีของบริษัทบางกอกซินเทติกส์ตั้งอยู่ใกล้เคียงในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งสูงเกินค่าเฝ้าระวังของกรมคุมมลพิษที่กำหนดไว้ถึง 27.5 เท่าของค่ามาตรฐานที่ 5.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังพบสารดังกล่าวสูง 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ทางทิศใต้ลมบริเวณที่ตั้งของบริษัทชินเอ็ตสึ ซึ่งสูงกว่าค่าเฝ้าระวังของกรมควบคุมมลพิษ 33.7 เท่า

นางเพชรโฉม กล่าวว่า ยังตรวจพบสารพิษอื่นที่กรมควบคุมมลพิษไม่ได้กำหนดค่าเฝ้าระวังไว้ ได้แก่ พีไซลีน 93.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โทลลีน 77.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 69.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไนตริกออกไซด์ 29.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้นอากาศในบริเวณมาบตาพุดมีการปนเปื้อนสารพิษหลายชนิดซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและยาว เป็นพื้นที่มลพิษพิเศษระดับโลก ดังนั้นควรใช้มาตรการร่วมกันหลายด้านในการแก้ปัญหาและป้องกัน เช่น รัฐต้องสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลพิษ โดยบังคับให้โรงงานเป็นผู้รายงานและรัฐเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าถึง

ด้านนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า สารพิษที่ปล่อยออกมาไปสะสมเรื้อรังในร่างกายของผู้ที่อยู่บริเวณนั้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซล ซึ่งพบความผิดปกติ โดยตั้งแต่ปี 31-41 กรมอนามัยตรวจพบอัตราการป่วยเป็นวัณโรค ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเพิ่มมากขึ้น และยังพบอัตราเด็กพิการตั้งแต่กำเนิดเพิ่มสูงขึ้น 40 เท่า ปี 42-43 พบคนเทศบาลมาบตาพุดป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจและโรคเกี่ยวกับผิวหนังเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับพื้นที่ปกติ ส่วนผลกระทบแบบเฉียบพลัน ปี 42-52 พบสารเคมีรั่ว 10 ครั้ง ผู้ได้รับผลกระทบ 1,299 ราย เสียชีวิต 2 ราย

นอกจากนี้ ประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 50 เซลมีการแบ่งตัวผิดปกติ หมายความว่า เสี่ยงต่อมะเร็ง ส่วนสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 41-43 พบอัตราการป่วยเป็นมะเร็งในเขตเมืองระยองสูงกว่าทุกจังหวัดและทุกเขตในประเทศ และตลอดมายังพบสารเคมีในบรรยากาศ ดินน้ำ ที่สะสมเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการปล่อยสารพิษจึงเชื่อมโยงกับสุขภาพประชาชนโดยตรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ