H1N1:สธ.สั่งประเมินสถานการณ์หวัด 2009 รอบใหม่,ยอดเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย

ข่าวทั่วไป Monday October 26, 2009 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.สาธารณสุข เผยขอประเมินสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รอบใหม่ ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ก่อนตัดสินใจกำหนดมาตรการรองรับ หลังประเทศสหรัฐประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านสุขภาพทั่วประเทศ

สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในไทยพบจำนวนผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 18-24 ต.ค.52 พบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.- 24 ต.ค.52 มีทั้งสิ้น 182 ราย

"ขอประเมินสถานการณ์ร่วมกับทางสำนักระบาดฯ ก่อนว่ามาตรการในการดำเนินการต้องทำในระดับใด ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่หนีการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ในช่วงฤดูหนาวและเดินทางมาประเทศไทยจึงไม่อยากทำมาตรการป้องกันที่ล้ำหน้ามากไปเพราะอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวได้" นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายวิทยา กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเขตร้อนที่อยู่ในกลุ่มประเทศต้องเฝ้าระวังโรคดังกล่าวในช่วงปลายฝนต้นหนาว ดังนั้นมาตรการเฝ้าระวังยังต้องเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนดูแลและป้องกันตัวเองต่อไป โดยได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.), กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน รวมทั้งเดินหน้ามาตรการคัดกรองผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สั่งการโรงพยาบาลในสังกัดเตรียมความพร้อมรับมือผู้ป่วยกลุ่มนี้แล้ว ส่วนความคืบหน้าในการสั่งนำเข้าวัคซีนหวัด 2009 นั้นเท่าที่ได้รับรายงานจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.) คาดว่าล็อตแรกจะมาถึงไทยในเดือน ธ.ค.นี้

ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยอย่าตื่นตระหนกต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ของประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะเป็นการประกาศทางนโยบายเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานสะดวกขึ้น ส่วนคนไทยยังสามารถเดินทางไปสหรัฐได้ และเมื่อเดินทางกลับมาหากป่วยเป็นไข้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

"การประกาศดังกล่าวคนไทยไม่ต้องตกใจ สำนักระบาดฯ ตรวจสอบข่าวแล้วทราบว่าประเทศสหรัฐพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ใน 46 มลรัฐ และจากการสุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อที่เป็นสาเหตุของการป่วยครั้งนี้เกิดจากเชื้อเอช 1 เอ็น 1 ประกอบกับสหรัฐกำลังเข้าสู่ฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี จึงได้ออกประกาศดังกล่าวขึ้นมา" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

กระทรวงสาธารณสุขไม่มีคำสั่งห้ามคนไทยเดินทางไปสหรัฐ แต่แนะนำให้ป้องกันตัวโดยล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำกับสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค หลังสัมผัสกับจุดต่างๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ มีคนใช้ร่วมกันจำนวนมาก เช่น ปุ่มลิฟต์ บันไดเลื่อน หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันตัวเองโดยใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยหลังจากเดินทางกลับมาแล้ว หากป่วยเป็นไข้ หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ทางการยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวังป้องกันทุกจังหวัดอย่างเข้มข้นเต็มรูปแบบ ภายใต้มาตรการ 2 ลด 3 เร่ง คือ ลดการติดเชื้อและป่วยให้มากที่สุด ลดการเสียชีวิตให้มากที่สุด และ 3 เร่ง คือ เร่งให้อสม.ค้นหาผู้ป่วยทุกชุมชน เร่งเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเอง และเร่งรัดการบริหารจัดการความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น

ขณะที่ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยาโอเซลทามิเวียร์รักษาไข้หวัดใหญ่ 2009 ของไทยยังใช้ได้ผลดี กรมควบคุมโรคได้สำรองไว้ 12 ล้านเม็ด และมียาซานามิเวียร์อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ไทยสั่งนำเข้า 2 ล้านโด๊ส เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย จะเริ่มทยอยเข้ามาล็อตแรก 1 ล้านโด๊สในเดือน ธ.ค.52 และจะเข้ามาอีก 1 ล้านโด๊สในปลายเดือน ม.ค.53 การบริหารจัดการจะกระจายวัคซีนทั้งหมดลงพื้นที่ทุกจังหวัด โดยจะรณรงค์ฉีดป้องกันในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.53 เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย 5 กลุ่ม

ประกอบด้วย 1. กลุ่มแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ด่านหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรค 2.หญิงมีครรภ์ไตรมาสที่สองขึ้นไป (อายุครรภ์เกิน 3 เดือนขึ้นไป) 3.คนอ้วนน้ำหนักตัวตั้งแต่ 100 กิโลกรัมหรือมีดัชนีมวลกาย 35 ขึ้นไป 4.ผู้พิการทางสมองและปัญญา 5. บุคคลอายุ 6 เดือนถึง 64 ปี ที่มีโรคประจำตัว 10 โรค เรียงตามลำดับ ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย ผู้ป่วยโรคมะเร็งระหว่างรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการแทรกซ้อน และผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ