รมว.คมนาคม เผยยังไม่รู้เรื่องกรณีที่มีข่าวนายกรัฐมนตรีเตรียมเรียกผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และแกนนำกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ(สร.รฟท.) หารือเกี่ยวกับปัญหาการหยุดเดินรถในวันพรุ่งนี้(3 พ.ย.) ขณะที่เตรียมเสนอแผนปฏิรูป รฟท.ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า พร้อมขออนุมัติงบประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาเร่งด่วน
"ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะนายกรัฐมนตรียังไม่ได้แจ้งมาที่กระทรวงคมนาคม จึงไม่ทราบว่าจะหารือในประเด็นใด" นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าว
ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางแก้ไขปัญหา รฟท. ซึ่งไม่ได้มุ่งที่จะแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องการเปิดให้บริการเดินรถเพียงอย่างเดียว แต่จะปฏิรูป รฟท.ให้เป็นองค์กรที่นำไปสู่การพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาระบบราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งในภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะเสนอรายละเอียดให้ ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยแผนดังกล่าวจะแบ่งการใช้งบประมาณเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว
"การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนคือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนระยะต่อไปจะเป็นการลงทุนโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีทั้งการใช้งบประมาณและการเปิดให้เอกชนมาลงทุน โดยรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะวันนี้เกินหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่จะดำเนินการแล้ว ซึ่งเราจะเสนอข้อมูลที่เป็นจริงให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหา" นายโสภณ กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้บริหาร รฟท.มีคำสั่งไล่ออกพนักงานจำนวน 6 คน และยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเลิกจ้างพนักงานอีก 7 คนนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า เป็นการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย หากพนักงานเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุก็มีขั้นตอนในการขอความยุติธรรม ซึ่งตนเองพร้อมสนับสนุนการทำงานของสหภาพฯ แต่สหภาพฯ ต้องแบ่งแยกแบ่งหน้าที่และบทบาทการทำงานให้ชัดเจน
ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมการ รฟท.เปิดเผยว่า แผนงานระยะเร่งด่วนจะใช้เงินลงทุน 4.6 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี เช่น โครงการจัดหาหัวรถจักรใหม่, โครงการเปลี่ยนรางให้เป็นขนาด 100 ปอนด์ จากเดิม 70 ปอนด์, โครงการเปลี่ยนไม้หมอนคอนกรีตทั่วประเทศ, โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ, โครงการก่อสร้างรั้วกั้นตามแนวเขตทางรถไฟทั่วประเทศ และโครงการปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศ
ส่วนแผนระยะปานกลางจะใช้เงินลงทุนอีก 3.3 แสนล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางคู่ทั่วประเทศ ระยะทาง 3,039 กม. ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ ซึ่งระยะเร่งด่วนจะมี 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 762 กม. ใช้เงินลงทุน 6.61 หมื่นล้านบาท สำหรับแผนระยะยาวจะใช้เวลาดำเนินการ 10-20 ปี ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงใน 4 เส้นทาง มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนลงทุน
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สร.รฟท.ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ได้แก่ ขอให้ยกเลิกคำสั่งไล่ออกพนักงานจำนวน 6 คน, ให้ตั้งคณะกรรมการกลาง 3 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ด้านนายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง(สร.กฟน.) กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือต่อ รมว.คมนาคม เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกประกาศคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากข้อเรียกร้องของพนักงานให้ปรับปรุงบริการให้มีมาตรฐาน และให้ซ่อมแซมอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารก่อนการเดินรถ โดย สร.กฟน.ขอคัดค้านการเลิกจ้างโดยการปลดพนักงานออก เพราะถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรง และละเมิดสิทธิแรงงานรวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการชุมนุมของสหภาพฯ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน