ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)เปิดเผยหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงข้อเรียกร้อว่า นายกรัฐมนตรีขอนำเรื่องไปหารือกับผู้บริหาร รฟท.ก่อน โดยรับปากเฉพาะเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง 3 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันไม่มีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแน่นอน ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ขอเวลาพิจารณาก่อนตัดสินใจ
"นายกฯ รับข้อเสนอไปดู แต่ขอฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เกิดความชัดเจน...แต่เบื้องต้นเท่าที่คุยกับนายกฯ ก็ยังไม่มั่นใจเท่าใดว่าจะสามารถทำตามข้อเสนอได้" นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สร.รฟท.กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หลังจากกระทรวงคมนาคมเสนอแผนแม่บทพัฒนาระบบรางของรถไฟต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจแล้ว จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม.อีกครั้ง
ประธาน สร.รฟท.กล่าวว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีเร่งหาข้อสรุปที่ชัดเจนให้ได้ภายใน 15 วัน ซึ่งหากได้ข้อยุติแล้วคงไม่เกิดปัญหาการหยุดเดินรถอีก
สำหรับข้อเรียกร้อง 6 ข้อที่ สร.รฟท.ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ขอให้สั่งยกเลิกคำสั่งไล่ออกพนักงาน 6 คน, ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย, ขอให้ตั้งคณะกรรมการกลาง 3 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน, ขอให้ปลดนายยุทธนา ทัพเจริญ ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท., คัดค้านการแปรรูป รฟท.ด้วยการแยกตั้งบริษัท เพราะทำให้สูญเสียความเป็นองค์การของรัฐ และขอให้สานต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ระยะยาว เพื่อฟื้นฟูแรงงานสัมพันธ์ใน รฟท.ตามที่เคยมอบหมายให้ พล.ต.สนั่น เข้ามาดูแลจนได้ข้อยุติไปแล้ว
ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตนเองไม่ได้รับเชิญให้ร่วมหารือครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากมีใครมาร้องเรียนปัญหาของ รฟท.ที่กระทรวงคมนาคม ตนเองอาจไม่ต้องเชิญนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท.มาร่วมประชุมก็ได้ แต่เรื่องนี้ต้องการให้ทุกคนมองการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นอย่างไร เพราะนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น และจะได้ทราบว่าใครเดินมาถูกทางหรือผิดทาง
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาด้านบุคลากรของ รฟท.นั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามปัญหาด้านบุคลากร รฟท. ได้รายงานผลการศึกษา โดยพบว่าโครงสร้างการบริหารจัดการยังไม่ชัดเจน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบงานของรองผู้ว่าการ รฟท. ซึ่งมีอยู่ 7 อัตรายังสับสน ไม่มีการแบ่งกลุ่มงานและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ตนเองจึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปจัดทำโครงสร้างการบริหารงานให้ชัดเจน เช่น ฝ่ายโยธา ฝ่ายพาณิชย์ ฝ่ายช่างกล ฝ่ายกิจการพิเศษ
"โครงสร้างปัจจุบันยังมั่วกันอยู่ ซึ่งตามหลักการบริหารจะต้องมีเจ้าภาพในการดูแลงานต่างๆ ที่ชัดเจน ซึ่งจะทำแผนมาเสนอกระทรวงคมนาคมอีกครั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะสรุปแผนในภาพรวม และแถลงผลการตรวจสอบ เอ็กซเรย์ปัญหาและแนวทางการแก้ไขของการรถไฟฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป ส่วนรัฐบาลจะแก้ปัญหา อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล" นายโสภณ กล่าว
ส่วนนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม และกรรมการ รฟท. กล่าวว่า โครงสร้างการบริหารงานจะต้องแบ่งโครงสร้างหลักเป็น 4 หน่วยธุรกิจ คือ 1.งานก่อสร้างราง 2.การเดินรถขนสินค้า 3.การเดินรถขนผู้โดยสาร และ 4.การบริหารทรัพย์สิน โดยที่แต่ละหน่วยธุรกิจต้องแยกบัญชีค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน และต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อที่จะใช้ในการพิจารณาโบนัสให้กับพนักงาน อย่างไรก็ตาม การแบ่งหน่วยธุรกิจนั้น จะต้องแก้ไขกฎระเบียบของ รฟท. และจะไม่ให้เอกชนเข้าร่วมแน่นอน