นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เตรียมพิจารณาทบทวนความร่วมมือและข้อตกลงด้านต่างๆ ที่ทำไว้กับรัฐบาลกัมพูชา โดยเฉพาะเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้กรณีที่มีการแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การประกอบการค้าข้าว ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเก่าเพื่อให้การจัดการประกอบการค้าข้าวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำหนดให้ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย และมีคณะกรรมการ 1 ชุด พร้อมจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประกอบการค้าข้าวขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมการค้าภายใน และมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอแผนการดำเนินงานต่อคณะกรรมการฯ ทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการค้าข้าว กำหนดแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนการค้าข้าวของประเทศ
รวมทั้งติดตามภาวะการค้าข้าว สอดส่องดูแลผู้ประกอบการค้าข้าว โดยสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อเรียกตัวบุคคลเข้ามาตรวจสอบและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภาวะการค้าข้าว รวมถึงใบอนุญาตของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการธุรกิจค้าข้าวต้องไม่ใช่ผู้ประกอบการที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี หากมีการฝ่าฝืนโดยยังค้าข้าวจะต้องถูกปรับไม่เกิน 100,000 บาท และต้องถูกปรับรายวันอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน หากเป็นผู้ประกอบการที่ขาดการต่อใบอนุญาตจะต้องถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอให้พิจารณาแนวทางเลือกการดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษภายใต้โครงการไทยแลนด์ พรีวิเลจ คาร์ด(อีลิทการ์ด) ซึ่งเสนอมา 2 ทางเลือกคือ การปิดบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด และยุติโครงการโดยสิ้นเชิง หรือดำเนินการต่อๆ ภายใต้ 3 แนวทางคือ การร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือปรับแผนดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือโอนภารกิจให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงานว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการไทยแลนด์อีลิทการ์ดมีสมาชิกทั้งหมด 2,570 คน และเบื้องต้นพบว่าขาดคุณสมบัติโดยเฉพาะในกรณีที่มีฐานพำนักถาวรในประเทศไทยจำนวน 795 ราย หากผลการตรวจสอบชัดเจนออกมาแล้วจะทำให้เหลือสมาชิกเพียง 1,775 ราย ขณะที่ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 46-51 ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทำให้มียอดขาดทุนสะสมล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.51 จำนวน 1,412.29 ล้านบาท เนื่องจากมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานสูงเกินความจำเป็น มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการสมาชิกสูงโดยไม่มีข้อจำกัด มีค่าใช้จ่ายในการขาย การตลาดและการบริหารสูง ขาดความรอบคอบรัดกุมเพียงพอ การให้อำนาจผู้บริหารอย่างไม่มีข้อจำกัดและทำให้เกิดการรั่วไหลและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงท่องเที่ยวฯ ระบุว่า หากรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางยกเลิกโครงการจะมีผลกระทบที่เป็นตัวเงินที่เกิดขึ้นทันทีเป็นเงินจ่ายออกมากกว่าเงินรับเข้าจำนวน 2,399 ล้านบาท ประกอบด้วย การชำระเงินชดเชยต่อสมาชิก 2,238 ล้านบาท การชำระเงินต่อเจ้าหนี้อื่น 101 ล้านบาท การชดเชยการเลิกจ้างพนักงาน 30 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่น 10 ล้านบาท เป็นต้น รวมทั้งจะมีความเสียหายจากการฟ้องร้องค่าเสียหายจากสมาชิก แต่หากรัฐบาลเลือกให้ดำเนินกิจการต่อโดยร่วมทุนกับเอกชน โดย ททท.ถือหุ้นมากกว่า 50% อาจเป็นภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว มีความไม่เป็นเอกภาพในการจัดการ อาจปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ เป็นต้น แต่หากปรับแผนการดำเนินงานของบริษัทอาจเกิดภาวะขาดทุนสะสมต่อไปอีก และถ้าโอนกิจการให้ ททท.อาจเกิดภาระด้านงบประมาณ มีภาระผูกพันรัฐบาลระยะยาว เป็นต้น