สมาคมฯ เชื่อศาลยกคำอุทธรณ์ของภาครัฐ เหตุแนวโน้มปัญหามลพิษมาบตาพุดเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Wednesday November 18, 2009 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มั่นใจว่าหลังจากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อมูลของผู้ฟ้องคดี(สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 43 คน)แล้ว ศาลจะยกอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี(คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมพวกรวม 8 คน)และผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากข้อเท็จจริงยังปรากฎว่าปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดยังไม่หมดไป อีกทั้งมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมายนั้นหน่วยงานภาครัฐก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดไว้

"เรามั่นใจมาตลอดว่าข้อมูลที่ให้กับศาล จะทำให้ศาลสั่งยกคำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องทั้ง 8"นายศรีสุวรรณ กล่าว

สำหรับการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานนั้น นายศรีสุวรรณ มองว่า กรรมการชุดนี้ทำหน้าที่เหมือนหนังหน้าไฟที่รับเป็นตัวแทนของภาครัฐเท่านั้น เพราะหากมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาแล้วอาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากติดขัดตามข้อประกาศเดิมที่มีอยู่ซึ่งออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจำแนกประเภทอุตหสากรรมที่มีผลกระทบรุนแรงตลอดจนการทำงานบางอย่างอาจมีความซ้ำซ้อนกันได้

ดังนั้น หากจะให้การทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายประสบผล อาจจำเป็นต้องยกเลิกบางประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก็จะคล้ายกับการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีในการแก้ไขปัญหามลพิษบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมกันนี้ยังเสนอให้เปลี่ยนตัวนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ออกจากกรรมการ 4 ฝ่าย โดยให้รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ได้เพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด

"ที่ผ่านมา เขา(ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ) เพิกเฉยต่อเรื่องนี้มาโดยตลอด เราถึงได้นำเรื่องนี้มาฟ้องศาล" นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แม้จะไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ 4 ฝ่าย แต่ได้รับการติดต่อจากนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการฯ เพื่อขอหารือแลกเปลี่ยนความเห็น คาดว่าจะมีโอกาสได้คุยกันวันนี้และจะเสนอให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ผนวกประเด็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลของ 181 โครงการไว้เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ หลังจากที่สมาคมฯ ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการ 181 โครงการลงทุนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 50 เรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนนั้น เชื่อว่าขณะนี้ผู้ประกอบการดังกล่าวน่าจะได้รับหนังสือแล้ว สมาคมฯ จะขอรอดูท่าทีก่อนว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าการพัฒนาประเทศชาติจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ แต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง ซึ่งข้อเท็จจริงมีการพิสูจน์เห็นแล้วว่าตั้งแต่เริ่มโครงการนิคมอุตสหกรรมมาบตาพุดในปี 40 มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเข้าไปแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไปแล้วนับหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณอย่างมาก

สำหรับแนวทางดำเนินการกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด นอกเหนือจากที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้ต่อสู้คดีทางศาลนั้น ยังได้ไปร้องเรียนกับ 4 องค์กร คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), วุฒิสภา, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุยชน เพื่อให้เข้ามาช่วยตรวจสอบว่ารัฐบาลดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้หรือไม่ และจากที่เรื่องดังกล่าวยังคงมีความเกี่ยวเนื่องกับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ท้ายสุดเรื่องนี้อาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ