ผู้เชี่ยวชาญเตือนจีนเสี่ยงเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารและเสถียรภาพทางสังคม หลังผลผลิตข้าวโพดในปีนี้ดิ่งลง 13% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี แนะเพิ่มการลงทุนเพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากปัญหาน้ำเสียและภัยแล้งอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน
รายงานจากบริษัท McKinsey & Co ที่เปิดเผยวานนี้ระบุว่า วิกฤตภัยแล้งในจีนอาจส่งผลกระทบให้ประเทศสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมากถึง 13.8 ล้านตันภายในปี 2573 หรือ 12% ของผลผลิตโดยรวม ซึ่งคิดเป็นเงิน 3.7 หมื่นล้านหยวน หรือ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรชาวจีนกว่า 35 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ ปัญหาภัยแล้งครั้งใหญ่ของจีนที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนก.พ.ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกทางภาคเหนือของจีนราว 4.5 ล้านเฮคเตอร์ โดยเฉพาะในเขตเฮย์หลงเจียงที่ประสบปัญหาภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 60 ปีเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างออกโรงแนะให้จีนจัดสรรงบลงทุนด้านการเกษตร 2.5 หมื่นล้านหยวนต่อปีไปจนถึงปี 2573 เพื่อพัฒนาระบบชลประทาน รักษาหน้าดิน และปรับปรุงด้านพันธุวิศวกรรมพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งมากขึ้น เพิ่มเติมจากปัจจุบันนี้ที่รัฐบาลจัดสรรเงิน 1 หมื่นล้านหยวนต่อปี สำหรับพัฒนาระบบชลประทาน รวมถึงการรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรเพื่อกระตุ้นรายได้
อย่างไรก็ตาม จีนมองว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารในขณะนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะปริมาณเมล็ดพันธุ์สำรองมีอยู่เป็นจำนวนมาก และผลผลิตทางการเกษตรก็เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของจีนจะผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ราว 28% ของผลผลิตธัญพืชจำนวน 590 ล้านตันในปี 2573