นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมด้วยญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ก๊าซพิษรั่วที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง และชาวบ้านในพื้นที่กว่า 20 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชน
ทั้งนี้ ตัวแทนภาคเอกชนได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.ให้มีการตั้งคณะกรรมการจากหลายภาคส่วน เพื่อบูรณาการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว รวมถึงตรวจสอบประสิทธิภาพของท่าเรือที่มีลักษณะเช่นเดียวกับท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะท่าเทียบเรือมาบตาพุดและบางปะกง
2.หากพบว่าการดำเนินการโดยมิชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจบนท่าเรือ ต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที 3.ปฏิรูประบบริการจัดการท่าเทียบเรือ เพื่อสร้างมาตราการที่มีประสิทธิภาพ มิให้เกิดปัญหาซ้ำซากอีก 4.ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากอุบัติภัยทางเคมีอย่างคุ้มค่าและสอดคล้องกับสภาพของปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ประสบตามสมควร และ 5.บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงสร้างมาตรการการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่
ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ จะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน รวมทั้งอยากเรียกร้องให้ภาครัฐเอาใจใส่และหามาตรการควบคุมด้วย เพราะที่ผ่านมาภาครัฐแก้ปัญหาตามหลังมาตลอด รวมทั้งเห็นว่าคำชี้แจงของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ไม่รับผิดชอบโดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวให้สัมปทานเอกชนไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังทราบว่าชาวบ้านในพื้นที่ถูกข่มขู่จากนายกเทศมนตรีตำบลแหลมฉบัง โดยระบุว่าหากชาวบ้านออกมาเรียกร้องมากจะไม่ได้รับพิจารณาค่าเสียหายจากการเวนคืนที่ดิน ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย
ด้านโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการดูแลระบบอุตสาหกรรมที่อ่อนด้อย รัฐบาลจึงควรเร่งดำเนินการปฏิรูป อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมาธิการฯ จะเชิญการท่าเรือแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม มาชี้แจงด้วย