รายงานจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่จัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กระบุว่า ในทศวรรษที่ 21 โลกของเราจะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดถึงขีดสุด ขณะที่เมื่อทศวรรษที่ 20 เป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสอง
ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีเพียงสหรัฐและแคนาดาเท่านั้นที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าอัตราเฉลี่ย ส่วนในแอฟริกากลางและเอเชียใต้อาจเป็นภูมิภาคที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดในปีนี้
นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนที่สุดในรอบ 400 ปี หรืออาจถึง 1,000 ปี เมื่อดูจากเส้นรอบวงของต้นไม้และธารน้ำแข็งที่ละลายลงเรื่อยๆ โดยอุณหภูมิบนพื้นโลกที่แปรปรวนในปัจจุบันเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ และการพัฒนาความเป็นเมืองในหลายๆประเทศ ซึ่งต่างจากในอดีตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และหากทั่วโลกยังไม่เลิกทำลายสภาพแวดล้อม อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นโลกจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 องศาเซลเซียสก่อนสิ้นสุดศตวรรษนี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและนักเคลื่อนไหวซึ่งเกรงว่า วิกฤตการณ์โลกร้อนจะสร้างภาระใหญ่หลวงในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ขณะที่ประเด็นหลักในการหารือภายในที่ประชุมโลกร้อนคือการแสดงความรับผิดชอบเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่ากลุ่มประเทศที่ร่ำรวยควรเพิ่มระดับการควบคุมมลพิษมากกว่ากลุ่มประเทศยากจน
อย่างไรก็ตาม ร่างข้อเสนอจากการประชุมโลกร้อนในครั้งนี้ช่วยทลายกำแพงระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลุ่มประเทศร่ำรวยจะเพิ่มความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซดังกล่าว ขณะที่ประเทศยากจนกว่าอาจเผชิญปัญหาในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากต้องดำเนินการควบคู่กับการกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ