สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจวผลงานรัฐบาลใน 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนพอใจต่อผลงานรัฐบาลค่อนข้างมาก โดยร้อยละ 45.0 พอใจมาก และร้อยละ 14.7 พอใจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มีประชาชนร้อยละ 11.9 พอใจน้อย และร้อยละ 4.7 ไม่พอใจเลย ร้อยละที่เหลือคือ 23.7 พอใจระดับปานกลาง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลงานของรัฐบาลทุกด้านที่นำมาสอบถามประชาชนครั้งนี้ได้คะแนนสอบผ่านเกินครึ่งในทุกมาตรการ เพียงแต่ว่า บางเรื่องต้องการให้รัฐบาลทำงานหนักและจริงจังต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ตามผลสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คะแนนความพอใจโดยรวมของประชาชนต่อผลงานของรัฐบาลพบว่า ได้ 6.35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน มีความหมายว่า ประชาชนพอใจต่อผลงานรัฐบาลค่อนข้างมาก
ที่น่าพิจารณาคือ 10 อันดับแรกของผลงานรัฐบาลที่ประชาชนพอใจมากที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า อันดับที่หนึ่งของผลงานรัฐบาลได้ 8.15 คะแนน คือ การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันดับที่สอง ได้ 7.59 คะแนน คือ เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน อันดับที่สาม ได้ 7.28 คะแนน คือ การศึกษาเรียนฟรี 15 ปี อันดับที่สี่ ได้ 7.04 คะแนน คือการป้องกันประเทศ อันดับที่ห้า ได้ 6.79 คะแนน คือ การประกันราคาพืชผลทางการเกษตร อันดับที่หก ได้ 6.75 คะแนน คือ การลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในส่วนของการเดินทาง ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า น้ำประปา และรองๆ ลงไปคือ โครงการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคระบาด การส่งเสริมความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาเซียน และการส่งเสริมตลาดและการกระจายสินค้าเกษตรและชุมชน
อย่างไรก็ตาม 10 อันดับแรกที่ประชาชนพอใจผลงานรัฐบาลน้อยที่สุด ได้แก่ อันดับแรก ได้คะแนนพอใจเฉลี่ย 5.10 คะแนนคือ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาคือพอใจน้อยที่สุดอันดับที่สองได้ 5.55 คะแนน คือ การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และพอใจน้อยที่สุดอันดับสามได้ 5.74 คือ การแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง ตามติดด้วย การกำกับดูแลเรื่องราคาน้ำมันได้ 5.78 คะแนน การเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติได้ 5.95 คะแนน และรองๆ ลงไปคือ การกระตุ้นการท่องเที่ยว การดูแลสร้างความเป็นธรรมในสังคม การแก้ไขปัญหายาเสพติด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการต้นกล้าอาชีพของรัฐบาล เป็นต้น
เมื่อสอบถามถึงการทราบ ข่าวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ที่กำลังตรวจสอบกรณีพรรคประชาธิปัตย์รับบริจาคเงิน 258 ล้านบาท นั้นพบว่า ร้อยละ 53.3 ทราบข่าว แต่ร้อยละ 46.7 ไม่ทราบข่าว โดยในกลุ่มคนที่ทราบข่าวพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.9 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นต่อความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบกรณีพรรคประชาธิปัตย์รับบริจาคเงิน 258 ล้านบาท และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ถูกยุบ
"เรื่องผลงานรัฐบาลในการสำรวจครั้งนี้น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจค่อนข้างมากเพราะรัฐบาลได้คะแนนพอใจเกินครึ่งในทุกเรื่อง แต่มีบางเรื่องที่ประชาชนยังพึงพอใจน้อยอยู่ และที่น่าเป็นห่วงต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยอีกครั้ง คือ กรณีข่าวการรับบริจาคเงิน 258 ล้านบาทที่อาจกลายเป็นอีกหนึ่งปมในความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นได้อีก และ ปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่รัฐบาลควรจะนำมาพิจารณาแก้ไขที่จริงจังและต่อเนื่อง" ดร.นพดล กล่าว
ทั้งนี้ ผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์" เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง และ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,150 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 18-19 ธันวาคม 2552