"โอบามา"อาจได้เสียงสนับสนุนกฎหมายลดโลกร้อนจากวุฒิสภา หลังอินเดีย-จีนเสนอยอมลดแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก

ข่าวต่างประเทศ Monday December 21, 2009 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วุฒิสมาชิกเบนจามิน คาร์ดิน สังกัดพรรคเดโมแครตจากรัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐ เชื่อว่า การที่จีนและอินเดียเสนอตัวว่าจะลดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก อาจกรุยทางให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาที่เคยไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการเข้มงวดเรื่องการลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกของบริษัทสหรัฐ

"ข้อตกลงในที่ประชุมโลกร้อนช่วยให้เราสามารถรับมือกับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐที่พยายามเอาเปรียบด้วยการไม่ยอมลดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจก การที่จีนและอินเดียเสนอว่าจะลดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกอาจปูทางให้โอบามาได้รับเสียงสนับสนุนในวุฒิสภา ที่จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายลดโลกร้อน" วุฒิสมาชิกคาร์ดินกล่าว

ที่ผ่านมานั้นวุฒิสมาชิกหลายคนของสหรัฐมีท่าทีต่อต้านกฎหมายลดโลกร้อนของสหรัฐเพราะเห็นว่าจีนและอินเดียยังไม่ยอมทำตามข้อตกลงลดโลกร้อน เนื่องจากจีนและอินเดียเป็น 2 ผู้ผลิตรายใหญ่ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

การประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงที่ได้ในการประชุมครั้งนี้ระบุถึงเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งทุกชาติจะต้องส่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวภายในสิ้นปี 2553 และประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับภาวะโลกร้อนด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมและตัวแทนรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการประชุมครั้งนี้ล้มเหลว และไม่มีพันธะผูกพันทางกฎหมาย โดยองค์กรอ็อกแฟมสากล (Oxfam International) กล่าวว่า ข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกนไม่ได้ช่วยทำให้พวกเขามีความมั่นใจว่าจะสามารถรอดพ้นจากปัญหาภาวะโลกร้อน หรือประเทศยากจนจะได้รับเงินช่วยเหลือที่จำเป็นในการใช้รับมือกับปัญหาอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันทาง Avaaz.org ได้ออกมาตำหนิท่าทีของสหรัฐและจีนว่า เป็นสองชาติมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก แต่กลับไม่มีบทบาทจริงจังในการทำข้อตกลงครั้งนี้มากเท่าที่ควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ