โพลล์นักเศรษฐศาสตร์หนุนรัฐขึ้นปี 2 กระตุ้นศก.คู่แก้ขัดแย้งการเมือง ค้านทำบาทอ่อน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 23, 2009 10:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ เสนอแนะรัฐบาลขึ้นปี 2 ในปี 53 ด้วยการดำเนินนโยบายเน้น 2 ลักษณะควบคู่กันไป คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นและส่งเสริมให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลงทุนต่อจากรัฐบาล ซึ่งจะเห็นผลก็ต่อเมื่อภาครัฐสามารถแก้ปัญหามาบตาพุดโดยเร่งด่วนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่ต้องสอดคล้องกับแนวทาง Green Economy ที่ชุมชนและตลาดต่างประเทศต้องการ พร้อมไปกับ การเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้เร็วที่สุด เพราะปัจจุบันปัญหาทางการเมืองจัดเป็นปัจจัยหลักที่กำลังกัดกร่อนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าภาครัฐต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปในปีหน้า โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการต่างๆ เป็นสำคัญ และต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ลดการคอร์รัปชั่น รวมทั้งต้องดำเนินนโยบายอยู่บนพื้นฐานของวินัยทางการคลัง โดยนักเศรษฐศาสตร์เสนอให้รัฐเน้นไปที่โครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งสาธารณะ โลจิสติกส์ การเกษตร และการส่งออก เป็นสำคัญ

สำหรับความเห็นต่อประเด็น หากไทยจะดำเนินโนบายเงินบาทอ่อนค่า ตามคำเรียกร้องของภาคเอกชน เพื่อไม่ให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน พบว่านักเศรษฐศาสตร์ 63.9% ไม่เห็นด้วย เพราะคาดว่าเงินดอลลาร์จะมีทิศทางที่อ่อนค่าลงอีก ซึ่งจะทำให้การแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อให้อ่อนค่านอกจากเป็นการฝืนกลไกตลาดแล้วยังมีต้นทุนในการแทรกแซงที่สูง เสี่ยงต่อการสูญเสียทุนสำรองโดยเปล่าประโยชน์

ดังนั้น การดูแลให้ค่าเงินมีเสถียรภาพจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการใช้นโยบายค่าเงินบาทอ่อน แม้จะช่วยให้การส่งออกดีขึ้นแต่ขณะเดียวกันราคาสินค้านำเข้าก็จะสูงขึ้นด้วย อีกทั้งนโยบายค่าเงินบาทอ่อนไม่ใช่คำตอบของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่เป็นเพียงการอุดหนุนการส่งออก ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงมากกว่า

ส่วนอีก 27.9% เห็นด้วย เพราะเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดการนำเข้าโดยเฉพาะน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ก็เป็นการเห็นด้วยในลักษณะที่มีเงื่อนไข กล่าวคือ มาตรการเงินบาทอ่อนควรเป็นมาตรการระยะสั้น และต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินของประเทศคู่แข่ง และควรดำเนินการไปพร้อมๆ กับนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถอื่นๆ

และ 8.2% ไม่มีความเห็น

ขณะที่ความเห็นต่อประเด็น การตื่นตัวเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกจะกระทบต่อภาคการผลิตภาคส่งออกของไทยหรือไม่พบว่า 19.7% เห็นว่าไม่กระทบต่อภาคการผลิตภาคส่งออก ขณะที่ความเห็นส่วนใหญ่ 47.5% เห็นว่ากระทบทางลบต่อภาคการผลิต ภาคส่งออก 19.7% เห็นว่า กระทบทางบวกต่อภาคการผลิตภาคส่งออก และ 13.1% ไม่มีความเห็น

กรุงเทพโพลล์ยังระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าผลงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมานั้นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยมที่สุด อันดับ 1 คือ โครงการลดค่าครองชีพ เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟชั้น 3 ฟรี ค่าไฟฟ้าฟรี ค่าน้ำฟรี คิดเป็น 28.3% อันดับ 2 คือ โครงการเรียนฟรี 15 ปี คิดเป็น 26.7% และ อันดับ 3 คือ โครงการประกันราคาพืชผลการเกษตร คิดเป็น 16.7%

ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยอดแย่ที่สุดในสายตานักเศรษฐศาสตร์ อันดับ 1 คือ โครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน คิดเป็น 45.8% อันดับ 2 คือ โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ คิดเป็น 18.6% อันดับ 3 คือ โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท คิดเป็น11.9%

อนึ่ง การสำรวจครั้งนี้กรุงเทพโพลล์ได้สอบถามความเห็ฯจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์วิจัย หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปี ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 21 แห่ง จำนวน 61 คน เมื่อวันที่ 14-16 ธ.ค.52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ