สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกรณีหวยออนไลน์ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 53.6% มองว่าหวยออนไลน์จะเป็นอบายมุขที่มอมเมาคนไทยมากขึ้น และส่วนใหญ่ยังมองว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนที่เป็นหญิงหันมาเล่นหวยออนไลน์มากขึ้นด้วย
พร้อมกันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 52.9% เห็นว่ารัฐบาลควรจะต่อสู้คดีความกับบริษัทเอกชน เพื่อไม่ให้มีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะที่ 35.4% เห็นว่ารัฐบาลควรยอมให้มีหวยออนไลน์
สำหรับปัจจัยที่คิดว่าจะเป็นสาเหตุทำให้คนไทยเล่นหวยมากขึ้นนั้น ประชาชน 77.2% เห็นว่ามาจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่กวดขันจริงจัง รองลงมา 73.2% เห็นว่าเป็นเพราะความง่ายในการเล่น และ 72.6% มองว่าคนไทยชอบการเสี่ยงโชค พร้อมกันนี้ประชาชนถึง 70.8% ยังเห็นว่าการเล่นหวยถ้าเล่นแล้วจะยิ่งทำให้ติดและอยากเล่นต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนปัญหาน่ากังวลใน 3 อันดับแรกที่อาจเกิดตามมา หากเด็กและเยาวชนมีการเล่นหวยมากยิ่งขึ้น คือ อันดับแรก ปัญหาแหล่งพนัน อบายมุขมากขึ้น 75.1% รองลงมา คือ ปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สิน 72.7% และปัญหาครอบครัว 69%
ทั้งนี้ผลการสำรวจยังพบว่าหากมีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 58% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงควรช่วยลดอบายมุขมากกว่าส่งเสริม นอกจากนี้ยังมองว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหวยใต้ดินได้ อีกทั้งหวยออนไลน์จะยิ่งเป็นการมอมเมาเยาวชน เปิดช่องทางให้คนเล่นหวยมากขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดพอ
ขณะที่ประชาชน 42% เห็นด้วยกับการมีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเห็นว่าถึงไม่มีหวยออนไลน์คนก็เล่นหวยกันอยู่แล้ว อีกทั้งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้น เป็นการช่วยแก้ปัญหาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา และน่าจะช่วยแก้ปัญหาหวยใต้ดินได้
ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ คือ กรุงเทพฯ, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, เพชรบูรณ์, เชียงใหม่, ปทุมธานี, เพชรบุรี, ฉะเชิงเทรา, กาญจนบุรี, ชลบุรี, หนองบัวลำภู, สกลนคร, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น, ระนอง, พัทลุง และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้น 1,063 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 5 ม.ค.53