นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เตรียมยื่นฟ้องร้องศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการขัดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
"สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงจำเป็นต้องพึ่งระบบตุลาการศาลยุติธรรมอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติให้เป็นที่สุดดังกล่าว" นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ ระบุในแถลงการณ์
เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานฯ ได้กำหนดให้มีองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมให้ความคิดเห็น ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา
"การเร่งรีบอย่างลุกลี้ลุกลนของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายและรัฐบาล เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการหรือแรงกดดันของกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ โดยมองข้ามบริบทของการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง" นายศรีสุวรรณ ระบุ
แถลงการณ์ฯ ยังระบุอีกว่า การกำหนดให้มีคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระขึ้นมาโดยพลการ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดไว้ เป็นการต่อเติมเสริมแต่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายชุดปัจจุบันให้ยืดยาวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
"เป็นการใช้เล่ห์หรือเทคนิคทางกฎหมายที่ไม่อาจยอมรับได้ ทั้งๆ ที่บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายควรมีอายุสิ้นสุดเพียงไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น" นายศรีสุวรรณ ระบุ
อีกทั้งการกำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาเป็นคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นองค์การอิสระฯ ทั้งที่กฤษฎีกาเคยคัดค้านการจัดตั้งองค์การอิสระในรูปแบบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาโดยตลอด
"เมื่อคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมอบหมายให้สำนักงานกฤษฎีกาไปยกร่างรูปแบบองค์การอิสระในกฎหมายอื่นมาแทน กลับไปสร้างรูปแบบคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระนอกรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยใส่ตำแหน่งของตนเองเข้าไปเป็นกรรมการด้วย ถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ประหนึ่งตั้งเรื่องเอง ชงเรื่องเอง และกินเอง อย่างน่าเกลียด" นายศรีสุวรรณ ระบุ
กรณีกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ย่อมขัดต่อความเป็นอิสระขององค์การอิสระ เพราะนายกรัฐมนตรีย่อมสามารถให้คุณให้โทษต่อองค์การอิสระได้ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งในอนาคตก็ตาม เพราะหากองค์การอิสระได้ให้ความเห็นในลักษณะที่ขัดหรือแย้งต่อโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นแนวนโยบายหรือไม่สนองตอบต่อความต้องการของรัฐบาล
การกำหนดการใช้งบประมาณขององค์การอิสระต้องผูกโยงอยู่กับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและหรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์การอิสระเป็นองค์กรเดียวระดับชาติมาโดยตลอด ย่อมส่งผลต่อการใช้เล่ห์เหลี่ยมในด้านการบริหารจัดการทางงบประมาณที่ไม่ให้เพียงพอได้ หรือล่าช้า โดยอ้างระบบราชการ ทำให้องค์การอิสระไม่สามารถทำงานระดมหรือจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียได้รอบด้านเพียงพอ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นได้อย่างเต็มที่ได้ เพราะมีระยะเวลาการทำความเห็นที่จำกัดเพียง 60 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ การได้มาซึ่งข้อยุติของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายทั้งเรื่องหลักเกณฑ์การทำ EIA, HIA การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และการตั้งองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ไม่เคยนำข้อยุติดังกล่าวไปจัดเวทีหรือเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียเลย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลชุดนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ และขัดต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดเจน
"เหตุทั้ง 5 ประการดังกล่าวมีเหตุผลเพียงพอแล้ว และ ณ เวลานี้ไม่สามารถหาข้อยุติใดๆ ได้อีกต่อไป" นายศรีสุวรรณ ระบุ