นางจิราวรรณ จงสุทธนามณี วัฒนศิริธร ประธานคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบการใช้งบประมาณและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐว่า เบื้องต้นอนุกรรมการฯได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณมาบตาพุด โดยได้นำดินตะกอนตัวอย่างบริเวณคลองชากหมาก อ.มาบตาพุด ซึ่งอยู่ใกล้เคียงที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นคลองที่ไหลผ่านพื้นที่นิคมมาบตาพุดมาศึกษาพบว่า ตะกอนมีสารปนเปื้อนของสารอินทรีย์ โลหะหนัก และสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในปริมาณที่สูงและประเมินว่าจากปริมาณตะกอนดินสูงถึง 3 แสนตัน และส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ต่อการใช้ประโยชน์ จากแหล่งน้ำและวิถีชีวิตของคนในชุมชน เนื่องจากส่งกลิ่นเหม็นเน่าและมีสภาพเสื่อมโทรม
นอกจากนี้อนุกมธ.ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีเดียวกันให้เร่งช่วยเหลือและแก้ไขในปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
พร้อมระบุว่า สถานการณ์น้ำในประเทศไทยปี 52 ในแม่น้ำสายสำคัญ 48 สาย และแหล่งน้ำนิ่ง 4 แหล่ง คุณภาพผิวดินอยู่ในเกณฑ์ดี 36% พอใช้ 32% และเสื่อมโทรม 32% แต่หากเปรียบเทียบคุณภาพน้ำย้อนหลังไป 2 ปี ปรากฏว่าคุณภาพน้ำที่เคยอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในปี 52 ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ได้แก่ แควใหญ่, ป่าสัก, เจ้าพระยาตอนกลาง, แม่อูน, หนองหาน และลุ่มน้ำปากพนัง เป็นต้น ขณะที่น้ำทะเลชายฝั่งเริ่มมีคุณภาพลดลงได้แก่ เกาะเสม็ด, เกาสีชัง, อ่าวสะพลี, หาดทุ่งวัวแล่น, หาดทรายรี, เกาะสมุย, เกาะพงัน เป็นต้น ส่วนคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมสูงมาก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำแม่กลอง รวมทั้งปากแม่น้ำบ้านแหลม ด้านกลาง จ.เพชรบุรี
"พื้นที่น้ำต่างๆ อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะบริเวณที่แม่น้ำสายหลักตอนล่างที่ไหลผ่านชุมชนขนาดใหญ่ ในบางเขตมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฟาร์มสุกร และการเพาะเลี้ยงต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นต่อไป คณะอนุกรรมาธิการฯ จะดำเนินการตรวจสอบและเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขโดยด่วน" นางจิราวรรณ กล่าว
นางจิราวรรณ กล่าวถึงส่วนกรณีคลองแสนแสบว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียเกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว น้ำมีลักษณะสีดำ กลิ่นเหม็น ออกซิเจนละลายน้ำต่ำ เกิดการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่เกิดจากสิ่งปฏิกูลขับถ่ายของมนุษย์สูงมาก บางช่วงสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และมีการตกสะสมของตะกอนสีดำ บางช่วงน้ำสะสมก่อให้เกิดสภาพไร้ออกซิเจน ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขในการก่อสร้างระบบน้ำเสียให้คลอบคลุมเต็มพื้นที่
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าอนุกรรมาธิการฯ จะเชิญกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) มาชี้แจงข้อเท็จจริงว่ามีการละเมิดสัญญา EIA ก่อนมีการอนุมัติให้สร้างโรงงาน หรือมีกระบวนการปล่อยน้ำเสียถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ โดยจะหาแนวทางเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่อไป