นายสุนทร เหมทานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศข.6 ได้เตรียมวางแผนจัดการเก็บข้อมูลปริมาณการผลิตให้ถูกต้อง ชัดเจน ในการนำข้อมูลที่ได้ไปเตรียมวางแผนบริหารจัดการและกระจายสินค้าไม้ผลภาคตะวันออกปี 2553 ซึ่งได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด โดยกำหนดการจัดเก็บข้อมูลปริมาณการผลิตร่วมกันระหว่าง สศข. 6 และ สำนักงานเกษตรทั้ง 3 จังหวัด ในระหว่างวันที่ 3 — 22 กุมภาพันธ์นี้
โดยจะมีการประชุมพิจารณาผลวิเคราะห์ข้อมูลไม้ผลร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลที่เป็นเอกภาพของภาคตะวันออก ปี 2553 สำหรับใช้วางแผนบริหารจัดการไม้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม
จากการประมาณการเบื้องต้นของสถานการณ์การผลิตในปัจจุบัน ณ วันที่ 10 มกราคม 2553 จากผู้เข้าร่วมประชุมของไม้ผลแต่ละชนิด พบว่า เงาะ อยู่ในระยะออกดอกแล้วร้อยละ 50 ของพื้นที่ มีแนวโน้มผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม โดยคาดว่า ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2553
ส่วนทุเรียน พบว่าอยู่ในระยะออกดอกแล้วร้อยละ 90 ของพื้นที่ มีแนวโน้มผลผลิตลดลง เนื่องจากมีการโค่นทิ้งในบางแหล่งผลิต และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2553
สำหรับ มังคุด อยู่ในช่วงออกดอกแล้วร้อยละ 50 ของพื้นที่ มีแนวโน้มผลผลิตจะลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน มีอากาศหนาว และหมอกลงตอนเช้า ส่วนกลางวันอากาศร้อน จึงมีฝนตกบางช่วงทำให้ช่อดอกยืด ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2553 และสุดท้าย คือ ลองกอง ซึ่งอยู่ในระยะออกดอกแล้วร้อยละ 30 ของพื้นที่ มีแนวโน้มผลผลิตใกล้เคียงกับปี 2552 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2553
อย่างไรก็ตาม แม้จะทราบข้อมูลประมาณการปริมาณผลผลิตของ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ของภาคตะวันออกในปี 2553 ของจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด แล้วก็ตาม แต่ทาง สศข.6 และ สำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด จะยังคงติดตามสถานการณ์การผลิตร่วมกันทุก 15 วัน อย่างใกล้ชิด โดยกำหนดจุดสังเกตในพื้นที่ เพื่อจัดทำข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด และขอความร่วมมือชาวสวนให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงกับเจ้าหน้าที่สำรวจ เพื่อความชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายที่ถูกต้องต่อไป