นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งกำกับดูแลโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออกได้ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง “องค์กรถาวรเพื่อการสำรองข้าวฉุกเฉินของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม" หรือ APTERR เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน แก้ไขปัญหาความยากจนและขาดแคลนอาหาร รวมทั้งเพิ่มเสถียรภาพราคาข้าวของภูมิภาค
โดยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้แทนและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกฎหมายจากประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ผู้แทนคณะกรรมการสำรองอาหารแห่งอาเซียน ผู้แทนจากธนาคารเพื่อพัฒนาแห่งเอเชีย ฯลฯ พร้อมทั้งหน่วยงานฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้เห็นชอบรูปแบบเงินทุนสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรถาวรฯ โดยกำหนดยอดเงินกองทุน รวม 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใช้เวลา 5 ปี โดยขอให้ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี บริจาคประเทศละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนประเทศอาเซียนรวมกันบริจาคในวงเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 จำนวน 3 ประเทศ คือ สสป.ลาว กัมพูชา และพม่า บริจาค ประเทศละ 83,000 เหรียญต่อปี
ส่วนประเทศที่เหลืออยู่ในกลุ่มที่ 2 รวมถึงประเทศไทย บริจาคประเทศละ 107,000 เหรียญต่อปี จนครบ 5 ปี โดยในช่วงดำเนินการจัดหาเงินกองทุนจนกว่าจะได้ครบ จำเป็นต้องมีเงินเพื่อใช้บริหารงานปีละประมาณ 300,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งรวมค่าข้าวประมาณ 150,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่เตรียมไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเร่งด่วน จึงขอให้ประเทศสมาชิกให้การสนับสนุน โดยระยะจะนานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะจัดตั้งเงินกองทุนได้แล้วเสร็จเมื่อใด รวมทั้งความถี่ของการเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกว่าจะบริจาคจำนวนเท่าไร โดยในเบื้องต้นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย จะสนับสนุนด้านเทคนิคในช่วงเตรียมการจัดตั้งองค์กรถาวรฯ ภายใต้แผนบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน
นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้พิจารณาร่างข้อตกลงในการจัดตั้งองค์กรถาวรฯ โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่าข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย หรือการดำเนินงานบนพื้นฐานของเอกสาร ที่เป็นข้อกฎหมายระหว่างชาติอาเซียน จะทำให้ขั้นตอนดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทำได้รวดเร็ว เนื่องจากมีเหตุผลอันสมควรต่อการที่รัฐบาลของแต่ละชาติจะอนุมัติ โดยในระหว่างนี้ให้ดำเนินการปรับปรุงมาตราที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ อาทิ เรื่องแหล่งกำเนิดของข้าว ขอบเขตการดำเนินงานและหน้าที่ของคณะกรรมการระบบสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม โดยให้ส่งร่างข้อตกลงฯ ที่ปรับปรุงใหม่นี้ให้กับคณะกรรมการบริหารโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก ได้ให้ข้อเสนอแนะ และนำกลับมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อการประชุม AMAF+3 ครั้งที่ 10 ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ประเทศกัมพูชา
สำหรับการจัดตั้งองค์กรถาวรเพื่อการสำรองข้าวฉุกเฉินของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ในระดับภูมิภาคจะได้รับประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารกรณีฉุกเฉิน แก้ไขปัญหาความยากจน ขาดแคลนอาหาร และเพิ่มเสถียรภาพราคาข้าวของภูมิภาค ส่วนประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากในการสร้างศักยภาพในการครองความเป็นผู้นำตลาดข้าวของโลก ด้วยการควบคุมดูแลระบบการซื้อ-ขาย การระบายสต็อกข้าวของภูมิภาค และเป็นช่องทางในการระบายข้าวของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลด้านอาหาร โดยเฉพาะข้อมูลข้าว ส่งผลดีต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการข้าวของประเทศ ตลอดจนสามารถควบคุมกลไกระบายข้าวของอาเซียนบวกสามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวนอกภูมิภาคเข้ามาส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความพร้อมของการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินในภูมิภาค และในทางอ้อมยังช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านการบริโภคข้าวเป็นหลักของภูมิภาคให้คงอยู่สืบต่อไปด้วย ง
ในส่วนของเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการที่ราคาข้าวมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากระบบสำรองข้าว จะช่วยลดความผันผวนด้านการผลิตและราคาข้าว ส่งผลให้รายได้เพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาระบบจัดเก็บและขนส่งเพื่อให้สามารถส่งออกข้าวได้ตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนดในเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งยังจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว และการผลิตข้าวที่มีคุณภาพอีกด้วย