นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงได้ประชุมหารือและวางแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรในส่วนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ที่สถานการณ์ขณะนี้ยังคงพบการแพร่ระบาดใน 11 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุทัยธานี กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี ชัยนาท ลพบุรี และนครนายก แต่พื้นที่การระบาดลดลงจาก 8.3 แสนไร่ เหลือ 6.7 แสนไร่
โดยในเบื้องต้นได้กำหนดหลักเกณฑ์และรูปแบบในการให้ความช่วยเหลือออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) การช่วยเหลือเป็นเงินสด ในกรณีที่ต้องไถกลบต้นข้าวเนื่องจากพบการระบาดรุนแรง เพื่อทำลายแหล่งของโรค โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเป็นเงินสดในอัตราไร่ละ 2,065 บาท ซึ่งจากข้อมูลทราบว่าอาจจะต้องดำเนินการในพื้นที่การระบาดทั้งหมด รวม 6.7 แสนไร่ 2) รัฐจะเข้าไปดำเนินการไถกลบโดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในพื้นที่ระบาด รวม 6.7 แสนไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายไร่ละ 400 บาท ใช้งบประมาณรวม 333.2 ล้านบาท เพื่อให้มีการพักนา 1-2 เดือน โดยจะมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน เข้าไปดำเนินการ 3) การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ทางราชการรับรอง ที่มีคุณสมบัติในการต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก อาทิ กข 31 กข 41 ในอัตราไร่ละ 15 กิโลกรัม คิดเป็นค่าใช้จ่ายไร่ละ 315 บาท โดยกรมการข้าว ยืนยันว่ามีเมล็ดพันธุ์เพียงพอที่จะดำเนินการในส่วนดังกล่าว เนื่องจากการคาดการณ์ผลผลิตข้าวในฤดูนาปรังจะมีเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ภาครัฐจะจัดกิจกรรมสนับสนุน อาทิ การฝึกอบรมอาชีพเสริม การอบรมความรู้เรื่องข้าว โดยเฉพาะการป้องกันกำจัดโรค แมลงต่างๆ 4) การพักชำระหนี้ ให้กับเกษตรกรที่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลจะจ่ายในส่วนของดอกเบี้ยให้ โดยการดำเนินการข้างต้นทั้ง 4 แนวทาง จะใช้งบประมาณ ไร่ละ 2,780 บาท ในพื้นที่รวม 6.7 แสนไร่ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,862 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำแผนงานโครงการเพื่อยุติและแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิกอย่างยั่งยืนขึ้นในระยะยาว ผ่าน 3 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 75.6 ล้านบาท ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล วงเงินงบประมาณ 17,887,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วน เริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ สำรวจติดตามการระบาด ทำแปลงสาธิตและจัดงานวันรณรงค์ การฝึกอบรมโดยการสร้างวิทยากรหลัก (TOT) อบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร อบรมเกษตรกร รวมถึงจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน
ส่วนอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการการป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืน วงเงินงบประมาณ 57.8 ล้านบาท เพื่อเร่งรัดการผลิต ปรับปรุง พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโรคใบหงิกและโรคเขียวเตี้ย การนิเวศการรักษาสมดุลในนาข้าวแบบองค์รวม ตลอดจนศึกษาทดสอบความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงของเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล นอกจากนั้น ยังมีการจัดระบบการปลูกข้าว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม ใน 4 รูปแบบ เน้นไปที่ให้มีการปลูกข้าวพร้อมกันปีละ 2 ครั้ง เพื่อง่ายต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคพืช โรคแมลงต่างๆ การจัดระเบียบในการชลประทาน และการวางแผนพัฒนาส่งเสริมการเกษตรด้านอื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
ด้านนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานทำลายวงจรชีวิตเพลี้ยกระโดดต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่มากับเพลี้ยกระโดดซึ่งทำให้เกิดโรคเขียวเตี้ยและใบหงิกในข้าวไม่ให้กลับมาในช่วงฤดูเพาะปลูกถัดไปคือเดือนเมษายนและพฤศจิกายน ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเพิ่มการแพร่ระบาดเพิ่มสูงถึง 48% หรือเกือบ 1 ล้านไร่
จากการประเมินโดยใช้ข้อมูลการระบาดในปี 2532-2533 ซึ่งต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรให้รักษาผลประโยชน์ในระยะยาวของตนเองด้วยการให้เห็นถึงความสำคัญและผลกระทบจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้มากที่สุด เพื่อได้รับความร่วมมือในมาตรการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเกษตรกรและประชาชนสามารถโทร.เข้ามาสอบถามข้อมูลสถานการณ์ การป้องกัน และรายละเอียดอื่นๆ ได้ที่ศูนย์อำนวยการควบคุม กำจัด เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ทั้งนี้ รายละเอียดทั้งหมดในเบื้องต้นจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งหลังจากนั้นคาดว่าจะมีแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่ให้กลับมาสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกในอนาคต