นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันอังคารนี้ขอเข้าหลักการและอนุมัติงบกลางประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดด รวมทั้ง จ่ายเงินชดเชยเป็นมาตรการจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมมาตรการตัดวงจรศัตรูพืชและวงจรระบาด
มาตรการที่ 1.ด้านการจ่ายค่าชดเชยผลกระทบจากการดำเนินการไถกลบต้นข้าว เพื่อมาตรการการตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิกในพื้นที่ โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ดำเนินการ และจ่ายเงินชดเชยผลกระทบ ผ่านธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้เกณฑ์ตามมติครม.เมื่อ 28 พ.ย.49 ที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายรุนแรงจากพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานเฉพาะด้านพืช ซึ่งจะช่วยเหลือในอัตรา 50% ของรายได้เกษตรกรที่ควรจะได้รับ
ส่วนมาตรการการตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก มี 3 ระดับ คือ ภาคราชการจะเข้าไปดำเนินการไถกลบต้นข้าวในพื้นที่ระบาด โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดพื้นที่มีการระบาด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
สอง เมื่อจะเพาะปลูกรอบใหม่ในเดือน พ.ค.53 กรมการข้าวจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานโรค ไร่ละ 15 กิโลกรัม และสาม จะขอในหลักการต่อที่ประชุมครม.ให้พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเป็นหนี้อยู่และเข้าร่วมโครงการไถกลบต้นข้าวเป็นเวลา 1 ปี
นายธีระ กล่าวว่า ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาการระบาดอย่างต่อเนื่องและยุติลงอย่างถาวร ผ่านทาง 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพื่อดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วน และโครงการการป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืน
และมาตรการปฏิรูประบบการปลูกข้าวใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก อย่างยั่งยืน รวมทั้งปัญหาวัชพืช ความสมดุลของระบบนิเวศ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยกำหนดช่วงเวลาการเพาะปลูกข้าวให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการจัดทำระบบการปลูกข้าว จะพิจารณาระบบการปลูกพืชและมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงระบบการปลูกข้าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม เกษตรที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องอยู่ในพื้นที่ระบาดที่ประกาศไว้ และมีการปลูกข้าวอยู่ในขณะนี้เท่านั้น
"ส่วนพี่น้องเกษตรจะพึงพอใจหรือไม่ยังไม่อยากไปคาดคิดแต่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่กระทรวงเกษตรทำจะดูแลเกษตรกรที่มีปัญหาเป็นอย่างดี และในวันพรุ่งนี้ก็จะรายงานให้ ครม.ทราบว่าขณะนี้บางพื้นที่ปัญหาได้ลดลงแล้ว เป็นผลจาก 2 ส่วนคือ มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว บางส่วนก็เกิดจากการรณรงค์ดูแล ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและได้เข้าไปฉีดพ่นยาเพื่อทำให้พื้นที่ระบาดลดลง"นายธีระ กล่าว
ขณะที่ กรมการข้าวระบุว่าขณะนี้พื้นที่ระบาดของเพลี้ยกระโดดกับโรคเขียวเตี้ยและใบหงิก ล่าสุดเหลือประมาณ 3.98 แสนไร่ ลดลงจาก 6.7 แสนไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ประสบปัญหาเหลือประมาณ 2 หมื่นราย จาก 6 แสนรายในช่วงที่เกิดปัญหาใหม่ ๆ