นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์สับปะรดแห่งชาติ ปี 2553-2557 ซึ่งมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยรักษาความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการผลิต การส่งออกสับปะรด และผลิตภัณฑ์สับปะรดที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน คาดว่าจะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น ประมาณ 1,480 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ราคาสับปะรดมีเสถียรภาพ ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มมากขึ้น สถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีความเข้มแข็งเนื่องจากการเชื่อมโยงเครือข่ายที่เหนียวแน่น
โดยวางเป้าหมายรวม 3 ด้าน ได้แก่ 1.เป้าหมายด้านการผลิต จะรักษาระดับพื้นที่ให้ผลผลิตสับปะรดในเขตเศรษฐกิจสำหรับสับปะรดไม่ให้เกิน 6 แสนไร่ต่อปี พัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3.9 ตัน ในปี 2551 เป็น 6 ตัน ในปี 2557 รวมถึงเพิ่มผลผลิตรวมจาก 2.3 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 3.0 ล้านตันในปี 2557 2.เป้าหมายด้านการใช้ในประเทศ มีเป้าหมายเพิ่มการบริโภคภายในประเทศจากประมาณ 2.5 แสนตัน ในปี 2551 เป็น 6 แสนตัน ในปี 2557 และเพิ่มความต้องการใช้สับปะรดเพื่อการแปรรูปจาก 1.5 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 2.4 ล้านตัน ในปี 2557 3.เป้าหมายด้านการส่งออก จะเพิ่มมูลค่าส่งออกสับปะรดสดจาก 45 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 110 ล้านบาท ในปี 2557 และในส่วนของสับปะรดแปรรูปจาก 25,945 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 30,000 ล้านบาท ในปี 2557
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ร้อยละ 35-40 เพราะมีจุดแข็งทางด้านกายภาพของพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมกว่าประเทศคู่แข่ง แต่ก็ยังต้องพัฒนาทั้งภาคการผลิต การแปรรูป และด้านวิชาการต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ยังได้วางยุทธศาสตร์และมาตรการดำเนินงาน รวม 4 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายข้างต้น ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการผลิต เน้นหนักไปที่การส่งเสริมการปลูกสับปะรดในพื้นที่ที่เหมาะสม การพัฒนาความรู้ความสามารถให้แก่เกษตรกร ป้องกันการแพร่กระจายของโรคและแมลงเกี่ยวกับสับปะรด รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาการผลิตสับปะรดอย่างเป็นระบบ 2.ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการแปรรูป จะเร่งพัฒนาโรงงานแปรรูปให้มีความเข้มแข็งควบคู่ไปกับการพัฒนาวิจัยการแปรรูปให้มีประสิทธิภาพ มีความหลากหลาย เพิ่มมูลค่าจากการ แปรรูปให้ราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้น
3.ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการตลาด จะเริ่มต้นตั้งแต่การวิจัยตลาดสับปะรดแปรรูป เพื่อเพิ่มปริมาณและมูลค่าสับปะรดแปรรูปทั้งในประเทศและการส่งออก ควบคู่ไปกับการเพิ่มปริมาณและมูลค่าการบริโภคสับปะรดทั้งสดและแปรรูปในประเทศ 4.ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการบริหารจัดการ จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเรื่องสับปะรดทั้งระบบ การพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสถาบันเกษตรกรกับโรงงานแปรรูปสับปะรด
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการดำเนินงานโดยเร็วต่อไป นอกจากนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สับปะรดขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อให้กำกับดูแลการดำเนินงานพัฒนาสับปะรดสำเร็จตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายข้างต้นอีกด้วย